ข่าว

ไขข้อข้องใจ "ATK" ตรวจ โควิด สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ หลังกลายพันธุ์หลายจุด

29 พ.ย. 2565

"ดร.อนันต์" ไขข้อข้องใจ ชุดตรวจ "ATK" สามารถตรวจ "โควิด" สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ หลังพบมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana กรณีที่มีคำถามว่า โควิด สายพันธุ์ใหม่ๆ ยังใช้ "ATK" ตรวจได้อยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าจะตอบให้ตรงคำถามคงต้องนำไวรัสแต่ละสายพันธุ์มาแยก และ ตรวจสอบกับ "ATK" แต่ละยี่ห้อโดยตรง

 

 

เพราะ "ATK" แต่ละยี่ห้อให้แอนติบอดีสำหรับตรวจจับโปรตีนของไวรัสที่เป็นสูตรของแต่ละที่ และ ปริมาณแตกต่างกัน ซึ่งคงไม่สามารถนำผลของชุดตรวจนึงไปอนุมานให้กับอีกชุดตรวจหนึ่งได้

 

แต่ถ้าไม่ทำวิธีข้างต้น สามารถใช้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของไวรัสมาช่วยได้ เนื่องจาก "ATK" แทบทุกยี่ห้อที่ใช้อยู่ตอนนี้ใช้แอนติบอดีต่อโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด หรือ โปรตีน N (Nucleocapsid) เป็นตัวจับโปรตีนของไวรัส กรณีที่ชุดตรวจจะใช้ไม่ได้ที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือ ไวรัสสายพันธุ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่โปรตีนตัวนี้ไปจนแอนติบอดีจับไม่ได้แล้ว

 

 

ถ้าลองมาดูตำแหน่งของโปรตีน Nucleocapsid ของสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น BA.2.75 หรือ BJ.1 จะเห็นว่าในกรอบสีเหลืองมีการเปลี่ยนแปลง (เส้นเล็กๆ สีแดงในกล่องสีม่วง) น้อยกว่าส่วนของสไปค์ (กรอบสีแดง) มากๆ ซึ่งบอกว่า ไวรัสตัวใหม่ๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนโปรตีน N ซึ่งทำให้แอนติบอดีส่วนใหญ่ที่เคยจับ N ได้ น่าจะทำงานได้ดีอยู่ ชุดตรวจ "ATK" ที่เคยตรวจ โอไมครอน ตัวแรกๆ ได้ดี น่าจะใช้งานได้ดีกับตัวใหม่ๆ ที่เริ่มเพิ่มขึ้นได้อยู่

 

คำถามต่อมาคือ แล้วมีโอกาสที่สายพันธุ์ไหนจะใช้ "ATK" ได้น้อยลงหรือไม่ คำตอบคือมีแนวโน้มถ้าสายพันธุ์ตระกูลที่เกิดจากการเป็น Hybrid (ผสมระหว่างต่างสายพันธุ์) เข้ามาระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ XBA และ XAW ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Delta และ BA.2 โดยยีนส่วนโปรตีน N จะมาจาก Delta แต่ ไม่เหมือนกับ Delta เดิมที่ "ATK" เคยตรวจได้ เพราะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายตำแหน่งตามภาพ ทำให้มีแนวโน้มเกิดผลกระทบต่อการทำงานของแอนติบอดีในชุดตรวจได้

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องกลับไปย่อหน้าแรกที่ผมเขียนไว้ก็คือ ต้องทดสอบกับไวรัสและชุดตรวจแต่ละชนิด ไม่สามารถอนุมานแบบปูพรมว่า "ATK" ทุกแบบจะใช้ไม่ได้

 

โควิด

โควิด