ข่าว

เฮ สธ.ไฟเขียว เพิ่มค่าตอบแทน “โอที" 8 % ทุกสาขาวิชาชีพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.เพิ่มค่าตอบแทน “โอที" 8 % ค่าเวรผลัดบ่าย-ดึก 50% ทุกสาขาวิชาชีพ อนุทิน ลั่นไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ แต่ตอบแทนความเสียสละ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมเรื่องการปรับเพิ่มค่าตอบแทน  “โอที" บุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ  ซึ่งเป็นไปตามที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เสนอเรื่องมา ซึ่งตนสอบถามว่า ต้องของบประมาณกลางหรือไม่ อย่างไร ซึ่งท่านปลัดสธ.บอกว่าไม่ต้อง เพราะเป็นงบบริหารจัดการในกระทรวงฯ อย่างเงินบำรุง ดังนั้น ตนจึงบอกว่า ลุยได้เต็มสูบ เพราะนี่เป็นประโยชน์ เงินบำรุงที่มีไว้ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่โชว์ยอดในบัญชีธนาคารเท่านั้น

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.  กล่าวถึงการปรับเพิ่มค่าตอบแทน “โอที" บุคลากรทางการแพทย์ ว่า เรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายว่าหากอยู่ในงบประมาณที่ดำเนินการได้หรือให้ได้ก็จะดำเนินการ โดยดูแลทุกวิชาชีพ ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565

 

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งมอบหมายให้ตนเป็นประธาน ซึ่งมีวาระการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นการปรับค่าตอบแทนและเงินเพิ่มเติมพิเศษของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัย และหน่วยบริการสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ เนื่องจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเพิ่มค่าตอบแทนหรือปรับค่าตอบแทนตั้งแต่ ปี 2555

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การพิจารณาได้คำนึงถึงสถานการณ์การเงินการคลังและรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับข้อเสนอแนวทางการเพิ่มค่าตอบแทน และการคาดการณ์สถานการณ์หลังเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารายได้รวมของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยข้อมูลปี 2560 - 2566 พบมีรายรับภาพรวมโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่ายโดยตลอด เช่น ปี 2566 มีรายได้รวมเท่ากับ 396,029 ล้านบาท และมีรายจ่ายเท่ากับ 339,609 ล้านบาท

 

ส่วนข้อเสนอปรับค่าตอบแทนหลักการคือ ปรับอัตราค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ขึ้นร้อยละ 8 และเมื่อได้ปฏิบัติงานเฉพาะผลัดบ่ายหรือผลัดดึก เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ ไม่ใช่กรณีปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดยปรับขึ้นร้อยละ 50 จึงมีการเสนอปรับค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ ได้แก่

 

แพทย์ ทันตแพทย์ “โอที" จากเดิม 1,100 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด , เภสัชกร จากเดิม 720 บาท เป็น 780 บาทต่อผลัด , นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด โดยพยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกที่จากเดิมได้รับเพิ่ม 240 บาทก็ปรับเพิ่มเป็น 360 บาทต่อผลัด , พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค จากเดิม 480 บาท เป็น 520 บาทต่อผลัด

 

โดยพยาบาลเทคนิคผลัดบ่าย/ผลัดดึกจากเดิมได้รับเพิ่ม 180 บาทปรับเพิ่มเป็น 270 บาทต่อผลัด , เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค จากเดิม 360 บาท เป็น 390 บาทต่อผลัด โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกจากเดิมได้รับเพิ่ม 145 บาทปรับเพิ่มเป็น 255 บาทต่อผลัด , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามวุฒิ จากเดิม 360-600 บาท เป็น 650 บาท และลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จากเดิม 300 บาท เป็น 330 บาท  ทั้งนี้ ลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จะมีการเขียนรายละเอียดเพื่อให้ชัดเจนต่อไป

 

"การเพิ่มค่าตอบแทนในบุคลากรดังกล่าวทำให้ระบบต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ด้านการเงินการคลังยังพอมีเงินชดเชยในส่วนดังกล่าวได้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญในการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างดีและต่อเนื่อง มีคุณภาพในทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่งหลังจากมีมติผ่านคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และต้องผ่านขั้นตอนต่างๆของกระทรวงฯ คาดว่าใช้เวลาอีก 1 เดือน และจะมีการส่งข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางในการพิจารณา เพื่อออกประกาศและดำเนินการให้กับบุคลากรต่อไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการปีละ 3 พันล้านบาท คาดว่าสามารถบริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เงินบำรุงเรามีเพิ่มขึ้นจากช่วงโควิดแสนกว่าล้านบาท หักลบหนี้แล้วก็เหลือระดับหลายหมื่นล้านบาท และอนาคตก็มองว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะแต่ละวิชาชีพไม่ได้เพิ่มมานานมากแล้ว

 

ทั้งนี้ ส่วนที่ระบุว่าค่าโอทีต้องเพิ่ม 8% กับค่าเวรผลัดบ่ายดึกอีก 50% เป็นตัวเลขขั้นต่ำ แต่ยังมีกลไกระดับจังหวัดในการพิจารณาว่าสามารถเพิ่มได้อีก ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ