ข่าว

"ติดโควิด" รักษาหายแล้ว ตรวจ ATK ทำไมยังขึ้น 2 ขีด แพร่เชื้อ ได้หรือไม่

ไขข้อข้องใจ "ติดโควิด" รักษาหายแล้ว ไม่มีอาการ แต่ตรวจ ATK ทำไมยังขึ้น 2 ขีด หายจริง หรือ หายลวง ยังสามารถแพร่เชื้อ ได้หรือไม่

ในระยะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แนวทางการรักษาเมื่อ "ติดโควิด" ก็เปลี่ยนแปลงไป หลายคนเป็นแล้วรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพราะอาการไม่รุนแรง เมื่อรักษาจนหาย และไม่มีอาการแล้ว แต่เมื่อตรวจ ATK ซ้ำ กลับพบว่ายังขึ้น 2 ขีด ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วแบบนี้หายหรือยัง จะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้หรือไม่ หากต้องกลับไปทำงาน 

 

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ให้ข้อมูลความแตกต่างระหว่าง "ATK" กับ RT PCR ที่ทำให้การตรวจเชื้อโควิด อาจจะเจอ 2 ขีด หรือ ขีดเดียว หลังรักษาอาการโควิดหายแล้ว โดยระบุว่า

 

 

"ATK" (UK ใช้คำว่า LFD-Lateral Flow Device ไม่ได้ใช้คำว่า ATK) ส่วนใหญ่ตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส พบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป ดังนั้น "ATK" ขึ้น 2 ขีด จึงค่อนข้างแน่ชัดว่า เป็นเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่ ซากเชื้อ (แบบที่เคยได้ยิน)

 

RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม (gene) ของไวรัส ด้วยกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความไวและความจำเพาะในการบอกว่า "พบเชื้อ-detected" ค่อนข้างสูง ใช้ดีในการยืนยันการวินิจฉัยโรค แต่ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้ว แม้ผ่านไป 14-28 วัน ก็ยังสามารถตรวจพบ สารพันธุกรรมของไวรัสได้ (หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ) แต่ปริมาณจะน้อยมาก (ค่า Ct มากกว่า 30 ขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้มีตัวตัดที่ชัดเจน) ดังนั้น "จึงไม่ใช้ RT-PCR ในการตรวจว่า ผู้ป่วยหายจากโควิดแล้วหรือยัง (การใช้ RT-PCR ติดตามการรักษามีที่ใช้โดยเฉพาะบางกรณี)

 

นพ.จิรรุจน์ กล่าวว่า ในปัจจุบันหลายประเทศ จึงพยายามนำ "ATK-Antigen Test Kit" มาใช้ประกอบการแนะนำในการสิ้นสุดการกักตัว เพราะถ้าตรวจเจอ ก็ไม่น่าจะเป็นซากเชื้อโควิดแบบที่พบใน PCR แปลว่า อาจจะปลอดภัยถ้าจะออกมาภายนอก (หยุดกักตัว) 

 

ขณะที่ผลวิจัยอีกทาง มีการพิสูจน์ โดยเอาคนที่ติดโควิดครบ 10 วัน และไม่มีอาการแล้ว แต่ยังตรวจ ATK เจอ ไปเพาะเชื้อ ปรากฎว่า มากกว่า 99.99% เพาะเชื้อไม่ขึ้น มีเพียง 1-2 รายที่เพาะเชื้อขึ้น และเป็นผู้ป่วยเด็ก จึงเป็นข้อสรุปว่า 10 วันไปแล้ว ถ้าอาการเป็นปกติ ไม่ว่า ATK จะยังอยู่หรือไม่ ถือว่าหายแล้ว

 

  1. ถ้าแค่ไอ ไม่มีไข้ คิดว่าหายโรค เชื้อไม่แพร่แล้ว เพราะอาการไอจะหายช้าสุดอยู่แล้ว บางคนไอต่อไปหลายอาทิตย์
  2. ATK 2 ขีด คือซากเชื้อ (ตรวจเจอได้)     

 

ดังนั้น คนที่จะสงสัยว่ายังไม่หายโควิดเกิน 10 วัน เช่นคนที่อาการแย่ลง เพราะเชื้อลงปอด เริ่มเหนื่อย

 

สอดรับกับการศึกษาในไต้หวัน พบว่า ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ก่อนที่จะมีอาการประมาณ 2 วัน ไปจนถึง 6 วัน นับจากวันที่มีอาการวันแรก จะติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ แต่ถ้ามีการสัมผัสหลังจากนั้น จะไม่มีใครติดเชื้อเลย การติดตามผู้ป่วยหลายร้อยคน ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ในประเทศเกาหลีใต้ ก็ไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ที่หายจากโรคแล้ว แม้ว่าจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อในสารคัดหลั่งของผู้ที่หายจากโรค

 

ดังนั้น ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนครบกําหนดระยะเวลาแล้ว จึงถือว่า พ้นระยะแพร่เชื้อ สามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างปกติ แม้ว่าบางคนอาจจะมีอาการหลงเหลือเล็กน้อย แต่อาการนั้น ไม่ใช่อาการที่แสดงว่ายังมีเชื้ออยู่ เป็นแต่เพียงการอักเสบที่ยังตกค้างอยู่ และจะหายไปเองในที่สุด

 

“การตรวจหาเชื้อ” จึงไม่มีความจําเป็น ไม่มีประโยชน์ใด ๆ และสร้างความสับสน เพราะสิ่งที่พบ คือ สารพันธุกรรม ที่เหลืออยู่ (ซากเชื้อ) ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ทําให้เข้าใจผิดว่า บุคคลนั้นยังไม่หายจากโรค ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือ หายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว

 

ติดโควิดกักตัวกี่วันไม่แพร่เชื้อ 
 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ติดโควิดกักตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ มีงานวิจัย ทั้งจากทีม Massachusetts General Hospital มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากทีม Imperial College London สหราชอาณาจักร ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจน ทั้งสองงานวิจัยนั้นให้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า

 

  • 5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่ และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้นั้นสูงถึง 50-75%
  • 7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึง 25-35%
  • 10 วัน จะมีความเสี่ยงราว 10%
  • หลัง 14 วันจะปลอดภัย
     

 

หมอธีระ ระบุว่า การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น ทางที่พอจะยืดหยุ่น และมีความเป็นไปได้คือ หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด หรือมีอาการ "ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน" 

 

 

ข่าวยอดนิยม