ข่าว

9 จุดเสี่ยง สัญญาณเตือนครอบครัวร้าว-ใช้ความรุนแรง

9 จุดเสี่ยง สัญญาณเตือนครอบครัวร้าว-ใช้ความรุนแรง

19 พ.ย. 2565

9 จุดเสี่ยง สัญญาณเตือนครอบครัวร้าว-ใช้ความรุนแรง : ว่าด้วยเรื่องของการรู้ทันและรับมือเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก

"สัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence)" ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

 

เป็นสาระสำคัญที่มีโอกาสได้ฟังในงานเปิดตัวโครงการ ‘Abuse is Not Love ของ  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) ภายใต้  ลอรีอัล ประเทศไทย

 

เวทีนี้โดยสรุปคือ ว่าด้วยเรื่องของการรู้ทันและรับมือเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทย
 

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จะเด็จ  เชาวน์วิไล ฉายให้เห็นภาพว่า พบรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวทางหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน 

 

โดยในปี 2563 มีข่าวฆาตกรรมในคู่รัก มากถึง 323 ข่าว คิดเป็น 54.5% ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด เมื่อวิเคราะห์ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก พบอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปี ถึง 54.1% 

 

สาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน 

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2564 พบหญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน มีการแจ้งความปีละ 30,000 ราย 

 

ขณะที่ "ผู้แทนอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้" ขยายความว่า ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก เป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบได้ง่ายสุด ทั้งร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน 

 

เฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 คนในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันมากขึ้น พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 60% เทียบกับช่วงก่อนระบาด 

 

ตอนหนึ่งได้สรุปให้เห็นถึง 9 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก ที่สามารถนำไปสำรวจตัวเองและครอบครัวได้ คือ 

  1. หมางเมิน ในวันที่พวกเขาโกรธ
  2. แบล็กเมล ถ้าคุณปฏิเสธที่จะทำบางอย่าง
  3. ทำให้อับอายขายหน้าจนคุณรู้สึกไม่ดีกับตนเอง
  4. พยายามปั่นหัว เพื่อบังคับให้คุณทำหรือพูดบางอย่าง
  5. หึงหวง ในทุกอย่างที่คุณทำ
  6. ควบคุม ทุกเรื่อง
  7. รุกราน ตรวจโทรศัพท์หรือติดตามที่อยู่ของคุณ
  8. ตัดขาด คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว
  9. ข่มขู่ ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติและปลูกฝังความกลัว

 

ไฮไลท์ของเวทีนี้ คือ มีการเชิญเคสตัวอย่าง เป็นสุภาพสตรีท่านหนึ่งอายุ 25 ปี เธอมาเล่าว่า ตอนอายุประมาณ 19 ปี เริ่มคบหากับอดีตแฟนได้ประมาณ 1 ปี ช่วงแรก ๆ ฝ่ายชายให้เกียรติ เอาใจใส่อย่างดี พอช่วงหลังเริ่มดุด่า มีปากเสียงรุนแรง หึงหวง กล่าวหาว่าตนจะไปมีแฟนใหม่ 

 

ตอนทะเลาะกันมักจะมีญาติฝ่ายชายพูดจาเสียดสีมีอคติ แต่ยอมเพราะรักและอยากสร้างครอบครัวร่วมกัน แม้ถูกทำร้ายร่างกายก็อดทน เมื่อฝ่ายชายขอโทษก็หายโกรธ แต่สุดท้ายเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทำร้ายร่างกายรุนแรง ตบตี ชกต่อย ใช้มีดจี้คอ ผลักให้รถชน

 

ที่รุนแรงสุดคือเตะที่ท้องอย่างแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้แพทย์แจ้งว่าตนตั้งครรภ์ แต่ฝ่ายชายก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังทำร้ายร่างกายอย่างรุนแง จึงตัดสินใจเลิกและทำงานหาเงินเลี้ยงลูกคนเดียวจนถึงปัจจุบัน 

 

ท้ายสุดเธอฝากข้อคิดถึงคู่รักทุกรูปแบบว่า ควรให้เกียรติกัน ไม่ควรกระทำความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และต้องจับสัญญาณความรุนแรงที่เขาแสดงออกมาให้ดี 

 

เพื่อจะได้หาทางเอาตัวเองออกจากความุรนแรงหรือยุติความสัมพันธ์