ข่าว

"ติดโควิด" เบื่ออาหาร นักไวรัสวิทยาชี้ ภาวะนี้ดีต่อร่างกาย ขจัดไวรัสได้ไว

"ติดโควิด" เบื่ออาหาร นักไวรัสวิทยาชี้ ภาวะนี้ดีต่อร่างกาย ขจัดไวรัสได้ไว

17 พ.ย. 2565

"ติดโควิด" เบื่ออาหาร นักไวรัสวิทยา ระบุ ภาวะนี้ส่งผลดีต่อร่างกาย สามารถเคลียร์ไวรัสได้ไวมากขึ้น ชี้ BHB อาจช่วยต้านเชื้อโรค

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana  ถึงสาเหตุที่ "ติดโควิด" แล้วเกิดภาวะ เบื่ออาหาร โดยระบุ ว่า  เวลา "ติดโควิด" แล้ว หลายคนมีอาการเบื่ออาหารทานอะไรไม่ลง จริง ๆ แล้วสภาวะนี้เป็นการตอบสนองต่อการติดเชื้อตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลดีต่อร่างกาย

ดร.อนันต์ ระบุต่อว่า จากกรณี "ติดโควิด" และเกิดภาวะ เบื่ออาหาร  การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจากทีมวิจัยในเยอรมนีพบว่า ช่วงที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยอาการเบื่ออาหาร เป็นการเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานของร่างกายจากการใช้น้ำตาล เพื่อสร้างพลังงาน เป็นการใช้แหล่งพลังงานสำรองที่ตับแทน โดยพลังงานสำรองดังกล่าวคือ ketone body β-hydroxybutyrate (BHB) ที่ร่างกายเปลี่ยนจากกรดไขมันในตับนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน ในสภาวะอดอาหาร หรือ แหล่งอาหารไม่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น อาหารกลุ่มคีโตไดเอท ที่บางท่านอาจนิยมรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก

นอกจากนี้ ทีมวิจัยพบว่า ผู้มี อาการโควิด รุนแรงจะมีการสร้าง BHB ในร่างกายที่น้อยกว่าปกติ แหล่งพลังงานของผู้ป่วยเหล่านั้นจะพึ่งน้ำตาล หรือ คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก แต่สภาวะการ "ติดโควิด" ทำให้ระบบการเผาผลาญน้ำตาลไม่เป็นปกติในผู้ป่วยเหล่านี้ โดยเฉพาะในเม็ดเลือดขาว T cell ที่ควรได้สารอาหารชนิดกรดอะมิโนสำคัญจากแหล่งพลังงานดังกล่าวไปสร้างโปรตีนเพื่อจัดการกับเชื้อ หรือ เพิ่มจำนวนของตัวเองให้พร้อมในสภาวะติดเชื้อ ทีมวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโควิดมี T cell ที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อ อาการโควิด ที่รุนแรง พูดง่ายๆคือ T cell เสียสมดุลการทำงานจากการใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงาน


ดร.อนันต์ ระบุต่อว่า ทีมวิจัยพบว่า แทนที่จะใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ร่างกายจะใช้ BHB แทน ซึ่งกลไกการเผาผลาญ BHB สามารถทำให้มีการสร้างกรดอะมิโนได้เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ T cell ได้อย่างดี สามารถเคลียร์ไวรัสจากร่างกายได้ไวขึ้น ทีมวิจัยพบว่า การให้อาหารชนิดคีโตกับหนูทดลองยังที่ติดเชื้อ สามาถช่วยให้หนูต้านการติดเชื้อได้ดีกว่ากลุ่มทดลอง ทำให้คิดว่า BHB อาจมีคุณสมบัติต่อต้านไวรัสได้


ทีมวิจัยสรุปว่า BHB อาจจะเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่อาจพิจารณานำมาใช้ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรง สำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารไม่อยากทานอะไร ก็อาจจะเป็นกลไกที่ร่างกายอยากใช้ประโยชน์ จาก BHB ที่สะสมไว้ครับ หรือ ถ้าจะทาน อาหาร low carb ช่วงพักฟื้นอาจช่วยให้หายไวขึ้นครับ