ข่าว

จับสัญญาณ คุณอาจเป็น "มะเร็งปอด" อายุน้อยก็เป็นได้ รีบพบแพทย์ ก่อนลุกลาม

11 พ.ย. 2565

กรมการแพทย์ ร่วม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือนพฤติกรรมเพิ่มปัจจัยเสี่ยง "มะเร็งปอด" เลี่ยงควัน ฝุ่น ก๊าซ เผยอายุน้อยก็เป็นได้ หลังแพทย์วัย 28 ปี โพสต์เรื่องราวสุดเศร้าเป็นระยะสุดท้าย ไม่สามารถผาตัดได้แล้ว

เป็นที่พูดถึงอย่างมากกับ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุเพียง 28 ปี ที่ออกมาเปิดเพจ "สู้ดิวะ" บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองที่กำลังประสบกับ "มะเร็งปอด" ระยะสุดท้าย อยู่ในระยะลุกลาม ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกแล้วก็หายขาดได้ ทั้งๆที่เป็นคนชอบออกกำลังกาย ให้ความสำคัญกับอาหารและการนอนหลับ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย มากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน 


ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะ จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย

สัญญาณเตือนโรคมะเร็งปอด เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย 

ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด ็สัญญาณเตือนเป็นมะเร็งปอด