ข่าว

"ราชกิจจานุเบกษา" ประกาศ "กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ" บังคับใช้แล้ว ป้องกันทำผิดซ้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ" ยาลดฮอร์โมนเพศชาย มีผลบังคับใช้แล้ว "ราชกิจจานุเบกษา" ออกประกาศ เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ

"ราชกิจจานุเบกษา" ออกประกาศ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือ กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ ยาลดฮอร์โมนเพศชาย มีผลบังคับใช้แล้ว เหตุผลของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญา บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษ และได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้าง

 

 

 

 

 

 

แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ ส่วนหนึ่ง ยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกัน หรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะ ที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว 
โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคม และผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ

 

 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรา 22 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นักโทษเด็ดขาด ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ตามที่พนักงานอัยการร้องขอ โดยกำหนดมาตรการเดียว หรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่

  1. ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด
  2. ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
  3. ห้ามเข้าเขตกำหนด
  4. ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
  5. ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย
  6. ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด
  7. ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร
  8. ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด
  9. ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด
  10. ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
  11. ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
  12. ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน
  13. ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง

 

ทั้งนี้ "กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ" สาระสำคัญคือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ที่แม้จะถูกจำคุกพ้นกำหนดโทษ ได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งมีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

 

อ่าน ราชกิจจานุเบกษา ฉบับเต็ม คลิกที่นี่

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ