ข่าว

มวลน้ำไม่ผ่านรังสิต "กรมชลประทาน" จัดจราจรน้ำคลองระพีพัฒน์ ลงอ่าวไทย

09 ต.ค. 2565

ประวิตร กำชับรักษาระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และคงการระบายน้ำเข้าทุ่งช่วยผ่อนเบาลำน้ำสายหลัก ขณะที่ "กรมชลประทาน" จัดจราจรน้ำคลองระพีพัฒน์ ลงอ่าวไทย มวลน้ำไม่ผ่านรังสิต

9 ตุลาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำภาพรวม โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในหลายจังหวัดภาคกลาง ตั้งแต่ นครสวรรค์ ลงมาถึง กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ที่ต้องรับมวลน้ำจำนวนมากจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยา

 

“ผมได้กำชับ สทนช. ให้ประสานกรมชลประทาน และฝ่ายปกครอง พยายามรักษาระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อไม่ให้ชุมชนริมเจ้าพระยาได้รับผลกระทบมากกว่าปัจจุบัน”

 

สำหรับการระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ ซึ่งขณะนี้ปล่อยเข้าไปแล้วกว่าร้อยละ 70 ให้คงการระบายต่อไป เพื่อช่วยกระจายมวลน้ำจากลำน้ำสายหลัก พร้อมขอให้ช่วยกันระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนน้ำท่วมขังนาน และเข้าเยียวยาทันทีที่น้ำลด เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนภาพรวม

 

ในวันเดียวกันนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเต็มความจุ จำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน ในอัตราประมาณ 901 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ก่อนจะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก

 

โดยได้ใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่คลองระพีพัฒน์ ตามศักยภาพของคลองที่รับได้ ก่อนจะลำเลียงน้ำลงสู่คลอง 13 และคลองในแนวเหนือ -ใต้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทยตามลำดับ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก รวมถึงช่วยบรรเทาและลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ได้ผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี แต่อย่างใด

 

ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนพระรามหกในอัตรา 1,043 ลบ.ม./วินาที และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,982 ลบ.ม./วินาที

 

สำหรับ ปริมาณน้ำทั่วประเทศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุ ขณะนี้ แหล่งน้ำทุกขนาด 66,126 ล้าน ลบ.ม. (81%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 58,181 ล้าน ลบ.ม. (81%) ยังคงเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง

 

ได้แก่ แม่งัด แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อย ทับเสลา กระเสียว ป่าสัก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินทร ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา หนองหารและบึงบระเพ็ด

 

นอกจากนี้ ยังคงประกาศเตือนเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้มีหนังสือถึง กอนช. แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ อ.อุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง และอ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร

 

โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำชีด้านท้ายอ่างฯอุบลรัตน์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 8-13 ตุลาคม 2565 ดังนี้

1. อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม

จ.มหาสารคาม ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10-0.50 เมตร

2. อ.จังหาร อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.1-0.6 เมตร

3. อ.เมืองยโสธร อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2

Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/