ข่าว

"โรคพิษสุนัขบ้า" อันตรายกว่าที่คิด เพียง เลีย-ข่วน-กัด ถึงขั้นเสียชีวิตได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค เตือน ถูกสัตว์เลี้ยง "สุนัข-แมว" เลีย-ข่วน-กัด มีโอกาสติดเชื้อ "โรคพิษสุนัขบ้า" หากไม่รีบพบแพทย์อันตรายกว่าถึงขั้นเสียชีวิต

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบสัตว์ติดเชื้อ "โรคพิษสุนัขบ้า" ได้ทั่วประเทศ และอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโดน สุนัข และ แมว กัดหรือข่วน จึงขอเตือนประชาชนว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรงหากได้รับเชื้อ พิษสุนัขบ้า เมื่อติดเชื้อและแสดงอาการแล้วรักษาไม่หาย และเสียชีวิตทุกราย สาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวข่วน กัด แล้วไม่ได้พบแพทย์ หรือเข้ารับฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง  

 

ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้แผลเล็กน้อย ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ โพวีโดนไอโอดีน หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบโดส และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ 

1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ "อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง" 
-อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห 
-อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ 
-อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 
-อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน 
-อย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ  
2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัด สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ 
3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะฉีดเพียง 4 – 5 ครั้งเท่านั้น
          

 

อาการผู้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 
-เบื่ออาหาร 
-เจ็บคอ 
-ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย 
-ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล
-กระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว 
-กล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต 
-หมดสติ เสียชีวิตในที่สุด 

อาการสัตว์เลี้ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 
-หางตก 
-เดินโซเซ 
-น้ำลายย้อย 
-ลิ้นห้อย 
-ตาขวาง 

 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเป็นประจำปีละ 1 เข็ม และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ