ข่าว

สทนช. ชี้ "การบริหารจัดการน้ำ" ของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่ท่วม-แล้ง ลดลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สทนช. ชี้ "การบริหารจัดการน้ำ" ของรัฐบาล มุ่งขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เน้นจัดการพื้นที่วิกฤตทั่วประเทศโดยพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ ส่งผลให้จำนวนพื้นที่ท่วม-แล้ง ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงกรณีรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยแสดงความเห็นว่า ในการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัย รัฐบาลควรมองปัญหา "การบริหารจัดการน้ำ" ทั้งประเทศอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ เนื่องจากมาตรการระยะสั้นอาจไม่เพียงพอ

 

พร้อมระบุว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลตั้งแต่ปี 58-69 หากนับเฉพาะปี 60-65 รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้ว 3.64 แสนล้านบาทซึ่งมากกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น

ขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่องโดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขับเคลื่อน "แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี" ซึ่งมีการดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่า 48 หน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำโดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในวงกว้าง

    การบริหารจัดการน้ำ

 

ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนไปแล้ว จำนวน 44 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,414 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.48 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 319,765 ครัวเรือน

ทั้งนี้เป็นโครงการได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้วจำนวน 24 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีฯ โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โดยกรมชลประทานสามารถช่วยป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้ 61,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรได้บางส่วนแล้ว

 

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานโครงการด้าน "ทรัพยากรน้ำ" ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนแล้ว ในช่วงปี 59-65 จำนวน 241 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,371 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,400,000 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,250,541 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 505,828 ครัวเรือน

 

เช่น ประตูระบายน้ำ ศรีสองรัก จ.เลย  อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ สกลนคร  ปรับปรุง คลองยม-น่าน จ.สุโขทัย  คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ฟื้นฟูพัฒนา คลองเปรมประชากร (คลองผดุง - คลองรังสิต) อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร  กรุงเทพมหานคร  บรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

 

ซึ่งโครงการบางส่วนที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นโครงการเดียวกับโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 350,000  ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

การดำเนินการของรัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤต (Area-Base) ทั่วทั้งประเทศ โดยมีการพิจารณาในทุกมิติ ทั้งด้านศักยภาพการแก้ไขปัญหา โดยมีผลการศึกษารองรับ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมี
ส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งต่างจากโครงการ 350,000 ล้านบาท ที่มุ่งไปที่โครงการซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและไม่ได้พิจารณาเรื่องความพร้อมของโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดร.สุรสีห์ กล่าว

 

 ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการในการรับมือก่อนภัยจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการบูรณาการส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกำหนด
กรอบแนวทาง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง

 

เช่น การกำหนดมาตรการประจำปีสำหรับรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง อาทิ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง การสร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นต้น 

 

ส่วนมาตรการสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูฝน อาทิ ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการกำจัดผักตบชวา เป็นต้น

 

ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินการในภาวะปกติของหน่วยงาน ยังได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)เพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างทันสถานการณ์ สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด และคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

 

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งลดอย่างต่อเนื่อง โดยจากปี 61 มีปัญหาภัยแล้ง 12,826 หมู่บ้าน 1,199 ตำบล 178 อำเภอ 26 จังหวัด ในขณะที่ปี 63/64 มีปัญหาภัยแล้ง เพียง 296 หมู่บ้าน 45 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด

 

เช่นเดียวกับความเสียหายจากอุทกภัยที่มีจำนวนลดลง โดยจากปี 61 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 418,338 ครัวเรือน ในขณะที่ปี 64 ได้รับผลกระทบเพียง 239,776 ครัวเรือน ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน  เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ