ข่าว

"เช็คเลย" พื้นที่ "น้ำท่วม" ซ้ำซาก ใน "กทม." เพื่อเตรียมรับมือกับพายุ"โนรู"

25 ก.ย. 2565

"เช็คเลย" พื้นที่ "น้ำท่วม"ซ้ำซาก ใน "กทม." จากทั้งหมด 50 เขต เขตไหนเรียกได้ว่าเป็น จุดเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงสุด เพื่อเตรียมรับมือกับ พายุ "โนรู" ที่จะเข้าถล่มไทยวันที่ 28 กันยายน นี้

วันนี้ (25 กันยายน 2565 ) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน "พายุโนรู"  ฉบับที่ 3 บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 122.1 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 25 - 26 กันยายน 2565 และมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย ในวันที่ 28 กันยายนนี้ ทางฝั่ง จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง

 

จากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565

วันนี้ ทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" ได้น้ำข้อมูลของจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ 50 เขต ที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ทำรายงานสรุปไว้ก่อนหน้าหน้านี้ พบว่า กทม. มีจุดเสี่ยง "น้ำท่วม" ทั้งหมด 12 จุด จากทั้งหมด 8 เขต แต่เขตหลักที่มีปัญหา "น้ำท่วม"ซ้ำซาก และเกิดปัญหา "น้ำท่วม"บ่อยครั้ง มีทั้งหมด 5 เขต ดังนี้

  • เปิด 5 เขต "กทม." เสี่ยง "น้ำท่วม"สูงสุด
  1. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ปัญหาของเขตจตุจักรอย่างหนึ่ง คือ บริเวณช่วงสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกอบกับมีถนนบางช่วงที่มีการปรับปรุงพื้นถนน ประกอบกับมีชุมชนริมคลองค่อนข้างมาก ทำให้มีความแออัดและระบายน้ำได้ยาก
  2. เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน เนื่องจากช่วงแยกเตาปูนอยู่ใกล้กับคลองประปา และมีพื้นที่เขตบางส่วนเชื่อมต่อกับเขตจตุจักร ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังขยายมาถึงบริเวณนี้ด้วย
  3. เขตหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงคลองประปา-คลองเปรมฯ จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในเขตนี้คือ บริเวณตั้งแต่ช่วงคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร เนื่องจากมีคลองถึง 2 สาย และมีการซ่อมถนนในบางช่วง ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย
  4. เขตดุสิต ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮีบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี (สะพานซังฮี้) เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับปัญหาน้ำท่วมขัง
  5. เขตราชเทวี ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ในเขตเมืองที่มีตึกอาคารหนาแน่น การระบายน้ำไม่สะดวก เมื่อมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมงจึงเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย 

 

โดยสรุปแล้ว กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด แบ่งเป็นฝั่ง "พระนคร" 9 จุดจากทั้งหมด 6 เขต และฝั่ง "ธนบุรี" 3 จุด จากทั้งหมด 2 เขต โดยในปี 2565 กทม. วางเป้าหมาย ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้เหลือ 36 จุด


ที่ผ่านมาแม้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. จะเร่งแก้ปัญหาในจุดที่ "น้ำท่วม"ซ้ำซาก และจุดเสี่ยงต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขุดลอกคูคลอง และการลอกท่อระบายน้ำ ที่ นายชัชชาติ ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ เป็นเส้นเลือดฝอยที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหา "น้ำท่วม" ในพื้นที่กรุงกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  รวมถึงสั่งการ ให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ แต่ปัญหาน้ำท่วม ดูเหมือนว่าจะยังไม่คลี่คลาย เพราะล่าสุดช่วงวันที่ 12-21 กันยายน ที่มีฝนตกหนัก ก็ยังพบว่ามีพื้นที่ "น้ำท่วมขัง" ในกรุงเทพมหานครหลายจุด 

 

นี่จึงเป็นหาที่ท้าทาย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ว่าจะสามารถแก้ปัญหาคลาสสิคของ กทม.ปัญหานี้ ไปได้หรือไม่ หรือจะเหมือนกับ ผู้ว่าฯกทม.คนก่อนๆ ที่พูดได้แต่แก้ปัญหาไม่ได้.

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   (https://awards.komchadluek.net/#)