
"ชัชชาติ" เร่งฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ถ้าทำได้ขยายผลทั่ว "กทม."
"ชัชชาติ" เร่งฟื้นฟู "คลองหัวลำโพง" นำร่องพัฒนาให้สะอาด ชี้เป็นเรื่องท้าทาย ถ้าทำได้ขยายผลไปทั่ว กทม. อีกทั้งเป็นคลองยาวกว่า 3 กม. ชี้เป็นจุดที่ดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่อง (Pilot Project) เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน 2565 ณ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นอโศกอินเดีย จำนวน 70 ต้น
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้ 20 กันยายน เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาคูคลอง ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาเราได้ไปพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเรื่องคูคลองเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพมหานคร
เพราะฉะนั้นเราจะลองเลือกคูคลองที่มันโหดๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง แล้วลองทำเป็นต้นแบบเพื่อเอาผลที่ได้ไปขยายต่อได้
อย่างไรก็ตามเลยลองนึกถึงคลองหัวลำโพงที่วิ่งไปถึงหัวลำโพง ตอนหลังโดนถมที่ทำถนน สุดท้ายก็จะเห็นเป็นคลองเล็กๆ มาจากตลาดคลองเตย แล้วก็วิ่งออกที่คลองพระโขนง และไปเชื่อมต่อกับคลองไผ่สิงโตด้วย ก็เป็นจุดที่เราถือว่าท้าทาย
จากจุดที่เราอยู่ตรงนี้จะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็นเลย เพราะว่ามีบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองแล้วก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงเลย ทั้งห้องส้วมทั้งการซักล้างทิ้งลงมาเลย อีกทั้งต้นทางมีตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ มีการเชือดไก่ มีน้ำล้างเขียงหมูแล้วก็ลงคลองหมด ไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือเปล่า ก็เป็นต้นเหตุหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนโยบายของเราด้วย นโยบายข้อที่ 171 เรื่องการดูแลตลาดให้ถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งก็มีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว
ที่ผ่านมาได้มีการลงมาดูพื้นที่มานานแล้วเป็นเดือน โดยจะเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้สะอาด ถ้าทำได้จะขยายผลไปทั่วพื้นที่กทม. อีกทั้งตรงนี้เป็นคลองที่ระยะทางมันสั้นแค่ 3 กิโลเมตร เป็นจุดที่เราดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น
นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า คลองหัวลำโพงตั้งอยู่กลางใจเมือง ห่างจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะจัดประชุมเอเปคนิดเดียวเอง ห่างกันไม่กี่กิโล ถนนพระราม 4 ต่อไปก็เป็นแนวถนนที่จะมีการพัฒนาเป็น Smart City ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการที่เราเริ่มตั้งแต่เข้ามา ตอนนี้เราก็เริ่มลุยเรื่องน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย ต่อไปก็จะทำขนานกันไปคือ เรื่องอากาศพิษ เรื่องPM2.5 ซึ่งได้มีคณะทำงานเริ่มทำงานเป็นหลายเดือนแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการต่างๆ เดี๋ยวจะมีการเข้าไปคุยกับทาง วช. เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ทำพวกเครื่องฟอกอากาศให้กับชุมชน ก็ดำเนินคู่ขนานกันไป เพราะว่าเรื่องมลพิษเรามีหลายมิติ ขยะเราทำแล้วเรื่องแยกขยะ เรื่องน้ำเสีย ต่อไปเรื่องอากาศพิษ เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องลุยในแต่ละงานต่อไป
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก ระยะ 6 เดือน สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 ระยะ 10 เดือน เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ
ดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3
"คลองหลักๆ ที่เริ่มทำแล้วเช่น คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ที่เราดูเรื่องการปล่อยน้ำเสีย การปล่อยสิ่งปฏิกูล ที่คลองแสบแสบก็ได้แจกถังดักไขมันตามชุมชนต่างๆ ส่วนเรื่องผู้บุกรุกริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการต่อ เพราะจะเป็นตัวอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างในระยะยาว คือจะให้ชาวบ้านลงทุนเองก็คงเป็นเรื่องที่ยากแล้วเรามีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียรวม สามารถแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยอย่างนี้ได้ ถ้ายังมีคนรุกล้ำซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำระยะยาว ต้องช่วยเรื่องการทำติดตั้งบ่อบำบัดเสียที่มีคุณภาพในชุมชนให้เยอะขึ้น ถ้าเอาน้ำเสียรวมต่อท่อเอาน้ำเสียทั้งหมดดึงไปบำบัดที่รวมคงยาก เราคงต้องบาลานซ์ระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในชุมชนให้มากขึ้น ต้องเอาตรงนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราสามารถหาวิธีดูแลกลุ่มนี้ได้ ก็ขยายผลในระยะยาวได้" นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวตอนท้าย
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมดังกล่าว
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)