ข่าว

ใช้เห็ดเผาะฟื้นฟูป่า ลดปัญหา ฝุ่น"PM 2.5"

ใช้เห็ดเผาะฟื้นฟูป่า ลดปัญหา ฝุ่น"PM 2.5"

22 ส.ค. 2565

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถ่ายทอดความรู้การใช้เห็ดเผาะเพื่อฟื้นฟูป่าฯ หวังช่วยลดปัญหา "PM 2.5" จากการเผาป่า


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัย    ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ให้กับ  โครงการบูรณาการของการใช้เห็ดเผาะเพื่อฟื้นฟูป่าและลด "PM2.5"  ที่เกิดจากการเผาป่าในบริเวณพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน  ซึ่งมี ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าทีมวิจัย เพื่อลดอัตราการสูญเสียของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาป่าของชาวบ้านในพื้นที่เขตอุทยานและบริเวณใกล้เคียง

ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเผาป่าเพื่อหาของป่าของชาวบ้าน เช่น  "เห็ดเผาะ" ซึ่งเป็นเห็ดที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้เหมือนเห็ดในท้องตลาดทั่วไปต้องเก็บจากป่าธรรมชาติ โดยชาวบ้านมีความเชื่อและเข้าใจผิดว่าการเผาป่าทำให้เกิดความร้อนช่วยกระตุ้นให้เกิด"เห็ดเผาะ" จำนวนมาก ซึ่งในความเป็นจริงการเผาป่าจะทำลายเส้นใยเห็ดเผาะที่อยู่กับรากพืชใต้ดิน รวมถึงพืชซึ่งเป็นที่อาศัยของ"เห็ดเผาะ" จึงเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อต้นไม้และระบบนิเวศในพื้นที่จะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ และที่สำคัญจำนวนและชนิดของเห็ดป่าต่าง ๆ 

ทางทีมวิจัย จึงศึกษาการฟื้นฟูป่าชุมชนที่เสื่อมโทรมโดยใช้ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ และเพิ่มผลผลิตของ"เห็ดเผาะ" ได้โดยไม่ต้องเผาป่า เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา รวมถึงการปลูกป่าไม้พื้นถิ่นวงศ์ไม้ยางในพื้นที่มาตรา 64 ที่ตั้งอยู่รอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์ของอุทยานในอนาคต   โดยใช้ราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะในการช่วยกระตุ้นการเจริญและการอยู่รอดของต้นกล้า เพื่อเป็นแปลงต้นแบบในการสร้างและใช้ประโยชน์จากป่าทั้งทางด้านอาหารและรายได้อย่างยั่งยืน

จากงานวิจัย ทำให้เกิดองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น ป่าชุมชนที่เสื่อมโทรมจากการเกิดไฟป่าต่อเนื่องทุกปีสามารถทำให้ผลผลิตเห็ดเผาะและเห็ดป่าอื่นลดลง เนื่องจากเห็ดกลุ่มนี้คือ เชื้อราที่อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากับรากของพืชที่อาศัย เช่น ไม้ในวงศ์ไม้ยาง วงศ์ก่อและวงศ์สน เมื่อเกิดไฟป่าเส้นใยราใต้ดินจะถูกทำลายและมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อเพิ่มผลผลิตเห็ดเผาะในป่าชุมชนที่เสื่อมโทรม การใส่หัวเชื้อ"เห็ดเผาะ" ในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสามารถเพิ่มปริมาณเส้นใยราที่อยู่กับรากไม้ใต้ดิน  เพิ่มโอกาสในการเกิดดอกเห็ด โดยหัวเชื้อของเห็ดเผาะจะอยู่ใน 2 รูปแบบหลัก คือ ดอกเห็ดแก่และสปอร์ ซึ่งได้มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ สามารถผลิตได้ทุกฤดูกาล

ทั้งนี้การวิจัยในโครงการได้มีการใส่หัวเชื้อ"เห็ดเผาะ"ในรูปแบบเส้นใยเพิ่มในป่าชุมชนที่ถูกรบกวนอย่างต่อเนื่อง และได้ติดตามผลผลิตเห็ดเผาะในพื้นที่หลังจากการใส่หัวเชื้อ แต่เนื่องจากการเกิดดอกเ"เห็ดเผาะ" ซึ่งเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของรานั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมคือ อุณหภูมิและความชื้นดิน โดยในปี 2564 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน ๆ ส่งผลให้ความชื้นในดินสูงเกินกว่าความชื้นที่เหมาะสมในการทำให้เกิดเห็ดเผาะ จึงไม่พบการเกิดดอกเห็ดเผาะในพื้นที่ทั้งที่เคยพบ"เห็ดเผาะ" จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังพบดอกเห็ดป่าไมคอร์ไรซาชนิดอื่นที่เป็นอาหารในพื้นที่ป่าชุมชน เช่น เห็ดระโงกเหลือง เห็ดระโงกขาว และเห็ดไคล เป็นต้น รวมทั้งเห็ดโคนที่อาศัยอยู่กับปลวก ซึ่งเป็นเห็ดป่าที่ชอบความชื้นในดินที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแปลงต้นแบบในการปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่มาตรา 64 ของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตร แต่ต่อมาได้ถูกเรียกคืนกลับมาเป็นพื้นที่ของอุทยาน โดยแปลงต้นแบบนี้ถือได้ว่า เป็นแปลงฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยถูกบุกรุกให้กลับมาเป็นป่าพื้นถิ่น ได้แก่ ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากมีการใช้ชนิดไม้เป็นไม้พื้นถิ่นแล้ว กล้าไม้การใส่หัวเชื้อ"เห็ดเผาะ" และเห็ดป่าอื่น ๆ ถือได้ว่าเป็นการสร้างแหล่งอาหารของชุมชนในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเป็นแหล่งรายได้ของชุมชน พร้อมกับป้องกันการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.จิตรตรา  กล่าวว่า ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยในโครงการนี้ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ถูกนำไปถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านการอบรม ปลูกป่ายังไง ให้ได้กินเห็ด  โดยได้รับการสนับสนุนจากชมรมผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรในตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน รวมถึงคุณครูจากตำบลใกล้เคียงเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนของตนเองต่อไป

 เนื้อหาในการอบรมถ่ายทอดความรู้ประกอบไปด้วย ความสำคัญของราไมคอร์ไรซา รวมถึงความสัมพันธ์ของราและพืชอาศัย การประยุกต์ใช้ราไมคอร์ไรซาในการฟื้นฟูป่า การใส่เชื้อไมคอร์ไรซา และการเพาะกล้าไม้พื้นถิ่นที่เป็นพืชอาศัยราไมคอร์ไรซาเห็ดเผาะ รวมถึงราไมคอร์ไรซาเห็ดป่าชนิดอื่น ๆ และย้ายปลูกกล้าไม้พื้นถิ่นแบบประณีต เพื่อสร้างโอกาสอยู่รอดให้กับกล้าไม้หลังการย้ายปลูก

รายงานผลการทดลองที่ผ่านมาพบว่า ในแปลงปลูกป่าใหม่ต้องใช้เวลาที่จะทำให้เกิดดอกเห็ดไมคอร์ไรซาอย่างน้อย 3 ปีหลังจากการย้ายปลูกกล้าไม้และการใส่หัวเชื้อ ดังนั้นจึงควรต้องมีการศึกษาติดตามผลการเกิดดอก"เห็ดเผาะ" หรือเห็ดไมคอร์ไรซาอย่างต่อเนื่องในป่าชุมชน และป่าปลูกที่มีการใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตของเห็ดเผาะและเห็ดป่าไมคอร์ไรซาอื่น ๆ ในอนาคต

จากงานวิจัยที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตของเห็ดเผาะในป่าชุมชนด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยไม่ต้องเผาป่า ทั้งการแสดงให้เห็นจริง เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ การให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบวนเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้กับชุมชน   ส่งผลให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดการรวมตัวของชุมชน สามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มเพาะกล้าไม้ที่มีคุณภาพโดยการใช้ราไมคอร์ไรซา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชุมชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสร้างความตระหนัก หวงแหน และการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอีกด้วย 

 

 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

ติดตาม คมชัดลึก ได้ที่ YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w