ข่าว

"ชัชชาติ"รับฟังปัญหาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชัชชาติ"รับฟังปัญหาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​ นำปัญหามาพัฒนาการคัดแยกขยะเมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานครให้ครบวงจร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี​ นายภิมุข​ สิมะโรจน์​ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ นายพรพรหม​ วิกิตเศรษฐ์​ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ นายวิรัตน์​ มนัสสนิทวงศ์​ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม​ นางป่านฤดี​ มโนมัยพิบูลย์​ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย​ นายชัยยุทธิ์ พลเสน​ นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​ นายฉัตรณพัฒน์ เทียนมงคล​ อุปนายก​ผู้แทนสมาคม​ ผู้แทนร้านรับซื้อของเก่า​ กรรมการสมาคม​ ผู้แทนกลุ่มซาเล้ง และผู้ที่เกี่ยวข้อง​ ร่วมประชุม​ ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร​ เขตพระนคร
 

นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยว่า​ วันนี้กทม.รับข้อเรียกร้องจากสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​ (Saleng and Recycle Trader Association) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวงจรขยะรีไซเคิลให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​ ซึ่งทางสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ามีปัญหาการทำงานในวงจรขยะรีไซเคิลโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมาเป็นเวลาหลายสิบปี

จึงขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยแก้ไขปัญหา 12 ข้อ​ ดังนี้​  "ชัชชาติ"รับฟังปัญหาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​ "ชัชชาติ"รับฟังปัญหาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​

1. จัดโครงการขึ้นทะเบียนซาเล้ง, สามล้อ สี่ล้อ ที่มีอาชีพรับซื้อของเก่า พร้อมทำประวัติ ฝึกอบรมแจกใบประกาศ แจกเสื้อทีม, แจกตราชั่งขนาด 60 กก.สำหรับชั่งซื้อขยะ​ ให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมครบหลักสูตร


2. เปิดโอกาสให้ซาเล้งที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าเก็บขยะรีไซเคิลตามหมู่บ้าน​ คอนโดฯ และสถานที่ที่กทม.กำหนด


3. กำหนดสีของถุงใส่ขยะเปียกและขยะแห้ง โดยขยะเปียกใส่ถุงสีดำ ขยะแห้ง(รีไซเคิลได้)​ใส่ถุงสีใส เพื่อลดระยะเวลาและลดปัญหาการฉีกถุงเพื่อค้นขยะ ป้องกันการเลอะเทอะสกปรก


4. เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มเกี่ยวกับขยะรีไซเคิลให้ลิงค์เข้าหากัน​ เพื่อให้ซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าสามารถเข้าถึงขยะจากชุมชนได้ง่าย

5. ปัจจุบันปัญหาขยะกำพร้า (เศษวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ) มีจำนวนมากและเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาน้ำท่วม​ ขอให้กทม.ช่วยจัดจุดรับ  50 เขต เพื่อให้ชุมชน ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า สามารถนำมาฝากไว้และทางกทม.สามารถรวบรวมเพื่อนำไปเข้ากระบวนการขายเป็นขยะRDF ให้กับโรงปูนเพื่อทำเชื้อเพลิง หรือประสานให้เอกชนมารับประมูลต่อไป


6. กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกทม. บรรจุวิชาขยะรีไซเคิล เพื่อสอนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การแยกขยะชนิดต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นแรงกดดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตาม


7. กำหนดวันเก็บขยะระหว่างขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อนำไปรีไซเคิล ส่งแรงจูงใจและระเบียบวินัยแก่ชุมชนกทม.


8. ส่งเสริมให้หน่วยงานในกทม.ทั้งหมด บริโภคสินค้าต่าง ๆ ที่ใส่บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% เท่านั้น เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงมากกว่ากำไรที่ได้


9. คิดค้นถังหมักขยะราคาถูก (หมักขยะเปียกได้ภาย 24 ชม.)​ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนเป็นดินปลูกต้นไม้ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันราคาแพงมากประมาณกว่า 50,000 บาท


10. ปัจจุบันกทม.มีร้านรับซื้อของเก่า(ขยะรีไซเคิล) กระจายทั่วไปแต่มีจำนวนมากที่ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นร้านค้าได้ เนื่องจากติดกฎหมายผังเมือง ขอให้ผู้ว่าฯกทม.ช่วยออกกฎหมายนิรโทษกรรมและเปิดลงทะเบียนร้านรับซื้อของเก่าให้ถูกต้อง สามารถมาทำงานร่วมกับกทม.ได้อย่างเปิดเผย​ โดยมีเงื่อนไข คือ​ ร้านค้าต้องปรับตัว แก้ไขปัญหาวางสินค้าให้ถูกต้อง ปรับปรุงเรื่องเสียง ควัน น้ำทิ้ง​ และสร้างภาพลักษณ์ของหน้าร้าน เช่น รั้ว กำแพง เพื่อโชว์ภาพให้มองดูสวยงามสะอาดตา​ สามารถขึ้นป้ายรณรงค์ในการรับซื้อหรือข้อความอื่น ๆ ที่กทม.กำหนด โดยมีโลโก้กทม.​ กรมควบคุมมลพิษ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า มีชื่อร้านค้าตนเองโดยป้ายนี้มีขนาดใหญ่สุด 1.20X2.40 เมตร สามารถได้รับการยกเว้นภาษีป้ายได้ด้วยเป็นกรณีพิเศษ


11. ขอให้ออกหนังสือเวียนทุกสำนักงานเขต ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือเรี่ยไรเงินตามกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรม 


12. แรงงานซาเล้ง คือ แรงงานฟรี ไม่ต้องเสียเงินจ้าง เพียงแค่สนับสนุนเครื่องมือประกอบอาชีพและเปิดโอกาสให้

 

" มูลค่าของการรับซื้อของเก่าทั่วประเทศ​ คือกว่าสามแสนล้านบาท​ ซึ่งมีซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้น​ โดยในกรุงเทพฯมีสมาชิกซาเล้งกว่า 30,000 คน​ ซึ่งต้องถือว่าเป็นซาเล้งช่วยชาติ​ เพราะเป็นผู้นำขยะไปรีไซเคิล ลดกระบวนการเก็บขยะโดยไม่เสียค่าจ้าง​ การมีอยู่ของซาเล้งจึงเป็นประโยชน์ต่อการดูแลขยะของเมือง​ เพราะฉะนั้นในภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลสมบูรณ์แบบมากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งภาพรวมคือการจัดระบบการกำจัดขยะของเมือง​โดยการหาแนวทางร่วมกัน​ โดยกทม.จะดูแลในหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น​ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า​ การลงทะเบียนผู้ประกอบอาชีพขับซาเล้ง​ เป็นต้น​ เพื่อควบคุมคุณภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง​ โดยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองที่เราอาจจะขาดการดูแล​ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดขยะของเมือง" นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว​ 

 

นายพรพรหม​ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ ปัญหาหลักในปัจจุบัน​คือขยะเปียกหรือเศษอาหารเมื่อรวมกับขยะแห้งแล้ว ทำให้การคัดแยกขยะทำได้ยาก ในปัจจุบันเราริเริ่มการแยกขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อลดขั้นตอนในการแยกขยะไปรีไซเคิลแล้วใน 3 เขตต้นแบบ​ ได้แก่ เขตปทุมวัน​ เขตพญาไท​ และเขตหนองแขม ซึ่งจะเริ่ม Kick Off ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ โดยจะเริ่มจากเส้นทางนำร่องในแต่ละเขตก่อน เช่น​ เส้นทางที่มีร้านอาหารมาก​ ลำดับต่อไปประมาณเดือน​ พ.ย.- ธ.ค. จะเก็บในลักษณะนี้ทั้งพื้นที่แขวง และประมาณต้นปีหน้าก็จะดำเนินการแบบนี้ทั้งพื้นที่เขต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนกรุงเทพฯ​ ให้คนกรุงเทพฯมั่นใจว่า เมื่อคัดแยกขยะจากบ้านแล้วเจ้าหน้าที่ กทม. จะไม่นำขยะไปเทรวมกันอีก​  ซึ่งรถขยะที่ไปเก็บขยะดังกล่าวจะมีที่เก็บสำหรับการคัดแยกขยะเปียกและขยะแห้งอย่างเป็นสัดส่วน 

 

"การคัดแยกขยะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเราต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ต้นทางคือผู้บริโภค​ กลางทางคือการทำงานของเจ้าหน้าที่กทม.​ และปลายทางคือเราจะนำขยะเปียกไปทำอะไร กทม.จึงอยากสนับสนุนนโยบายถังหมักขยะราคาถูกเพื่อทำปุ๋ยหมัก​ ซึ่งเป็นมาตรการลดรายจ่าย​ ส่งเสริมรายได้​ เนื่องจากสามารถนำปุ๋ยหมักมาปลูกผักรับประทานได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับเมืองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลตามนโยบาย​ " นาย ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริม​ 

 

ด้านนายกสมาคมซาเล้ง​ กล่าวว่า​ อยากเชิญชวนร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในแต่ละพื้นที่​ ให้มาขึ้นทะเบียนกับกทม.และสำนักงานเขต​ รวมถึงอยากให้กทม.ส่งเสริมการจัดประกวดร้านรับซื้อของเก่า ที่มีการจัดวางร้านสวยงาม​ ไม่สกปรก​ มีที่จอดรถ​ มีการประดับตกแต่งร้านด้วยต้นไม้​ รวมถึงไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชน​ เป็นต้น​ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพรับซื้อของเก่า​ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกทม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สวยงามขึ้นและเป็นที่ยอมรับของคนกรุงเทพฯ​ รวมถึงการจัดโซน ในพื้นที่กรุงเทพฯให้เป็นย่านร้านรับซื้อของเก่า เพื่อเป็นจุดรับขยะจากรถซาเล้ง​

 

นอกจากนี้ยังอยากให้กทม.แก้ไขปัญหาเรื่องขยะกำพร้าที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้​ เช่น​ ขวดน้ำดื่มบางยี่ห้อ​ ขวดนมบางยี่ห้อ​ ซึ่งจะกลายเป็นขยะที่อุดตันทางระบายน้ำในแม่น้ำลำคลอง​ โดยให้กทม.กำหนดจุดที่สามารถนำไปนำขยะกำพร้าเหล่านี้ไปทิ้งได้ เพื่อเป็นการรวบรวมให้กทม.นำไปสู่กระบวนการRDFหรือเผาทำลายต่อไป

 

"ความจริงเราควรมองว่าขยะคือทอง​ เนื่องจากสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้หากเรามีกระบวนการและการบริหารจัดการที่ดี  ซึ่งในปัจจุบันขยะของกทม.ยังใช้การฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเสียต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะแพง​ หากเราสามารถ ลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้และยังสามารถ สร้างรายได้ให้กับผู้อื่น ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต้องขอขอบคุณท่านนายกสมาคมฯ​ ที่พาทีมงานมาชี้แจงปัญหาต่างๆ​ ซึ่งกทม.จะนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่ระบบวงจรการดูแลบริหารจัดการขยะของกรุงเทพฯต่อไป​ " นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม.  กล่าวขอบคุณ

 

"ชัชชาติ"รับฟังปัญหาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า​

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ