ข่าว

หมอจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คาดม.6กระโดดอาคารดับ อาจ"ป่วยซึมเศร้า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพื่อนร่วมชั้น ม.6 กระโดดอาคารเสียชีวิต สุดช็อก เผยผู้ตายอารมณ์แจ่มใสดีมาตลอด หมอจิตเวชเด็กและวุัยรุ่น คาดผู้ตายป่วยซึมเศร้าแนะสังเกตอาการ

กรณี นักเรียนชั้นม.6 กระโดดจากอาคารเรียนเสียชีวิต เหตุเกิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.นครราชสีมา เมื่อเช้าวันที่ 15สิงหาคม 2565 ซึ่งแม่บ้านโรงเรียนที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ช่วงเกิดเหตุเวลา06.40 น.เห็นผู้ตายเดินไปสแกนนิ้วที่ใช้เวลาเข้าเรียน กระทั่งต่อมาเมื่อเดินมาข้างตึกก็เห็นร่างผู้ตายนอนอยู่และมีกิ่งไม้ทับและยังมีลมหายใจอยู่จึงได้รีบไปตามอาจารย์ในโรงเรียนมาช่วยเหลือ แต่กลับมาพบว่าชีวิตแล้ว 
 
ขณะเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ปกติแล้วผู้ตายจะเป็นคนที่มีนิสัยร่าเริง แจ่มใส และเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และมีผลการเรียนที่ดี ยกเว้นวิชาพละศึกษา ซึ่งไม่ค่อยชอบเล่นกีฬานัก ส่วน เรื่องเครียด ที่คุยกับเพื่อนๆจะเป็นเรื่องการบ้านและเรื่องเกมส์ออนไลน์ เป็นเรื่องปกติในกลุ่มเพื่อนที่ชอบบ่นเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งก็ยังไม่เคยบ่นว่า อยากจะฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่มีอะไรผิดสังเกต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ก่อนหยุดยาว วันแม่แห่งชาติ ก็ยังพูดหยอกล้อกันสนุกสนานไม่คิดว่าเปิดเรียนวันจันทร์เพื่อนจะมาโดดตึกฆ่าตัวตาย ทำให้เพื่อนทุกคนในชั้นเรียนรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

ด้าน แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ปิดเผยว่า กรณีเด็กและวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองแบบตั้งใจให้ถึงกับเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุของโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคซึมเศร้านี้มาจากปัจจัยทางชีวภาพ คล้ายโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ที่มาจากกรรมพันธุ์ และถูกกระตุ้นจากปัญหาภายนอก เช่น ปัญหาเรื่องการเรียน เกรดไม่ดี ได้รับความกดดันจากความคาดหวังของครอบครัว, เรื่องความรัก อกหัก ผิดหวังจากแฟน, เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว และเพื่อน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ จึงหาทางออกด้วยการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายในที่สุด เพื่อหนีปัญหาเหล่านี้

ซึ่ง วิธีสังเกตอาการเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตาย เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าเหล่านี้ จะมี สัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า ก่อนเสมอ เช่น การบ่นให้คนใกล้ชิดฟัง หรือโพสต์ในโซเชี่ยล ลักษณะบอกลา หรืออยากหายไปจากโลก ถ้าหายไปแล้วอย่าเป็นห่วง อะไรลักษณะนี้ 
 

ดังนั้นถ้าเรามีเพื่อน หรือคนในครอบครัวมีอาการลักษณะเช่นนี้ ก็อยากแนะนำว่า อย่าไปพูดแค่ว่า “ไม่เป็นไรหรอก” เพราะไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย แต่ควรจะถามไปตรงๆ เลยว่า “ตั้งใจจะฆ่าตัวตายจริงๆ หรือเปล่า” เพื่อให้เขาได้เล่าปัญหาต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งคำถามนี้ไม่ใช่เป็นการ ชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการทำให้คนๆ นั้นได้ฉุกคิดขึ้นมา เพราะบางคนไม่เคยฉุกคิดขึ้นมาเลย เป็นการทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และเกิดจาก พฤติกรรมเลียนแบบ เพราะคนที่เป็น โรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่ เขาไม่ได้ต้องการฆ่าตัวตายจริงๆแต่เขาต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากกว่า ถ้ามีทางเลือกก็อยากได้ความช่วยเหลือที่ดีมากกว่าการฆ่าตัวตาย ถ้าเขาเล่าว่ามีแผนการจะฆ่าตัวตาย ไปเล็งตึกนั้นไว้แล้ว หรือซื้อยามาลองกินดูแล้ว ก็ให้รีบพาเขาไปปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วน

ขณะเดียวกันเพื่อนๆ นักเรียนที่พบว่าเพื่อนมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็สามารถช่วยเพื่อนได้ อย่าปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ผ่านไปเฉยๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียเพื่อนไปได้

นอกจากนี้ในส่วน กรมสุขภาพจิต ก็มีช่องทางการช่วยเหลือหลายช่องทาง อาทิ สายด่วน 1323, เฟซบุ๊กเพจ “1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต”, แอดไลน์ KhuiKan และแอพพลิเคชั่น OOCA It’s Okay เป็นต้น ซึ่งจะมีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชพร้อมให้คำปรึกษาอยู่ ตลอด 24 ชั่วโมง.

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube Official : https://youtube.com/user/KOMCHADLUEK 
 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

 (https://awards.komchadluek.net/#)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ