
"หมอแทน" ผ่าการแพทย์เผยทุกมุมมอง “สาธารณสุขไทย”ดีมาก แต่ภาระหมอหนัก
Exclusive I หมอแทน “นพ. ธนีย์ ธนียวัน” ผ่าการแพทย์เผยทุกมุมมอง “สาธารณสุขไทย”ดีมาก แต่ภาระหมอหนักจนทำงานแทบไม่ได้พัก ย้อนเล่าเคสสุดอึ้ง แพทย์ 1 คนผ่าตัดคนไข้เกี่ยวกับสมอง 10 คน
นพ. ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด เจ้าของช่อง youtube : Doctor Tany ที่มีผู้ติดตามกว่า 900,000 คน เผยมุมมองสุด Exclusive กับทีมงานคมชัดลึกออนไลน์ ถึงปัญหาสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน,ข้อดีข้อต่างของการแพทย์อเมริกากับประเทศไทย,ปัญหา – สาเหตุหมอออกจากระบบ, และมุมมองสาธารณสุขไทยในอีก 10 ปีข้างหนา
ปัญหาสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน?
ผมคิดว่าสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นสิ่งที่หลายประเทศอยากเลียนแบบ เพราะเรามีโครงการ 30 บาท มันก็ครอบคลุมกับทุกคน โดยนโยบาย ทฤษฎีมันดีมาก และทุกคนสามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างทั่วถึงไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็เข้าถึงได้ เข้าถึงง่ายด้วย อาจไม่จำเป็นต้องทำนัดเหมือนต่างประเทศ เช่นวันนี้ป่วยไปหาหมอได้เลยยังไงก็เจอ
แต่การที่เป็นแบบนั้นมันทำให้ภาระหน้าที่ของหมอหนักมาก ช่วงที่ผมใช้ทุนบางที 2 วันเต็มๆ ก็ไม่ได้นอน แล้วคุณคิดว่าคุณหมอที่ไม่ได้นอน 48 ชม. รักษาพ่อแม่คุณ เป็นคุณจะโอเคไหม? เราอาจจะอดทนไหวนะแต่สมองเบลอๆ อาจจะสั่งการรักษาที่ไม่ถูกต้องก็ได้ แล้วเวลาที่อายุเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำแบบนี้แน่นอนอารมณ์ไม่ดี ถ้าเราไม่ได้นอนมานานๆ ทุกคนจะหงุดหงิดหมดเลย งานก็จะออกมาไม่ดีแต่ความคาดหวังมันสูง
เราะฉะนั้นเราจะเจอว่าหมอที่อยู่ที่อยู่ในเมืองไทย ที่อยู่ตาม รพ.รัฐบาล หรือไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ก็จะมีแรงกดดันทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทางผู้ปวยเอง ที่หวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี ถูกใจ ทันสมัย จากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าก็จะบอกว่า ยังไงก็ต้องทำงานเพราะสมัยก่อนยังทนกันได้ ดังนั้นก็ต้องทนกันต่อไป
หรือจากตัวนโยบายซึ่ง 30 ยาทนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ว่าบางครั้งจะมีปัญหาเรื่องของการจ่ายเงินให้กับ รพ. ต่างๆ ดังนั้นบางครั้งการได้เงินมาไม่ทัน มันทำให้เงินที่ต้องไปใช้จ่ายแพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์ในโรงพยาบาลจ่ายไม่ตรงเวลา หรือที่เรียกว่า ตกเบิกนั่นเอง บางคนตกเบิก 6 เดือนไม่ได้เงิน ดังนั้นอันนี้จึงเป็นแรงกดดันจากหลายๆ ทาง แล้วพอมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง รพ.บางที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์บางอย่างเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ แต่ว่าซื้อไม่ได้
บางทีเครื่อง CT scan ที่มันจำเป็นในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งต้องทำทันที แต่ปรากฏว่าเครื่องเสียแล้วเป็นเดือนแต่ไม่ซ่อม หรือเคสสมัยก่อนมี รพ.แห่งหนึ่ง ที่เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจเสีย แล้วไม่มีงบที่จะไปซื้อมาใหม่ คนไข้มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดปกติ แล้วเราไม่สามารถช็อตไฟฟ้าได้ คนไข้เสียชีวิตได้เลยนะครับ เสียชีวิตทั้งๆ ที่ป้องกันได้ง่ายๆ เพียงช็อตไฟฟ้าเขาก็ฟื้นแล้ว แต่กลายเป็นว่าเราไม่มี
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราเจอ ทำให้แพทย์ที่ยังอยู่ในระบบนี้ทำงานหนักมากขึ้น ทั้งการรับภาระจากคนในประเทศตัวเอง จากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามา หรือจากใครก็ไม่รู้ที่ไม่มีสิทธิอะไรเลยที่แต่ประเทศไทยเรารับรักษาหมดเลย ทุกๆ อย่างมันทำให้หมอออกจากระบบไปเยอะ
นโยบายที่พยายามจะเพิ่มแพทย์ ที่เราเห็นว่ามีโรงเรียนแพทย์เพิ่มขึ้นมามหาศาล เราเพิ่มแพทย์ได้แต่อาจจะแก้ไม่ตรงจุด เพราะว่าการที่ได้แพทย์มาเยอะแต่พอส่งออกไปเขาก็ไม่อยู่ มันอยู่ไม่ไหว ไม่ได้เงิน งานลำบาก เราไปอยู่ที่อื่นดีกว่า ไปทำเอกชน ไปทำอะไรที่มันสบายมากกว่าดีกว่า อันนี้คือปัญหาภาพรวมสาธารณะสุขของประเทศไทยที่จะต้องได้รับการแก้ไข
เราอาจจะต้องไปเสริมเรื่องสุขภาพของหมอ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนเลยเป็นอันดับแรก
เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา?
จะไม่ขอเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยที่สหรัฐอเมริกาการเข้าถึงสิ่งใหม่ๆ มันจะง่ายกว่า เช่นวิจัยใหม่ล่าสุด,ยาตัวนี้ดีที่สุด ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย แต่ว่าเวลาที่เราจะไปหาหมอไม่สามารถจู่ๆ เดินเข้าไปได้ เราจะต้องทำนัด
แต่ถ้าฉุกเฉินก็จะมีห้องฉุกเฉิน ซึ่งราคาจะแพงมาก ถ้าเราไม่ทำนัดแล้วไปห้องฉุกเฉินราคาจะแพงขึ้นไปเยอะเลย เยอะแบบมีปัญหาแน่นอน ที่อเมริกาปัญหาหลักๆที่ ทำให้คนล้มละลายได้หนึ่งในนั้นคือค่ารักษาพยาบาล
ง่ายๆ ยกเคสผ่าไส้ติ่งเปรียบเทียบกับระหว่าง รพ.ในสหรัฐฯ กับ รพ.ที่เมืองไทย
โรงพยาบาลดีๆ ไฮโซในไทยอาจจะ 100,000 - 200,000 บาท ขณะที่ รพ.ในอเมริกา 1,000,000 บาท ผ่าธรรมดานะครับไม่ได้มีการส่องกล้อง แล้ว 1,000,000 บาท นี่คือค่าผ่าเฉยๆ ไม่รวมค่ายา,ค่าห้อง,ค่ากลับมาตรวจกับหมอซ้ำ ซึ่งก็ต้องบวกไปอีก
ดังนั้นจะเห็นว่ามันมีคนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะค่ารักษาพยาบาลเยอะมากที่สหรัฐอเมริกา และมันก็ไม่ครอบคลุมทุกๆ คนด้วย บางคนก็ต้องจ่ายเงินเอง เงินก็จะหมดไปเพราะว่าค่ารักษาพยาบาล
ดังนั้นแต่ละที่ก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ที่สหรัฐอเมริกาเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเหมือนประเทศไทย ไม่มีปัญหาของการกระจุกตัวของแพทย์อยู่สักที่หนึ่ง เหตุผลเพราะว่าทั้ง 50 รัฐของเขา จะมีโรงพยาบาลหลักอยู่ประจำรัฐ ถ้าเกิดใครเป็นคนแถวนั้นก็จะชอบโรงพยาบาลนั้นมากเพราะมันเจ๋งของรัฐนั้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เขามี
ทุกประเทศมีข้อดีข้อเสียของมันเอง เราจะต้องไปดูนโยบายว่าอะไรมันเหมาะสมกับประเทศเรา ก็นำมาปรับใช้ แต่ถ้าเราไปลอกมาทั้งหมดอันนี้ไม่แนะนำ เพราะมันจะมีปัญหาอย่างอื่นตามมา
สาธารณสุขไทย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ?
บอกยากมาก มันขึ้นอยู่กับว่าคนในประเทศเราจะสามัคคีกันมากแค่ไหน? และนักการเมืองจะมีแนวคิดเป็นอย่างไร แต่ถ้าผมเอาจากข้อมูลทั้งหมด 40 - 50 ปีที่ผ่านมานี้ มันไม่ไปไหนเลย
ปัญหาที่เราเจอตอนนี้ มันก็เหมือนกับรุ่นพ่อผมที่เจอ คือหมอทำงานหนักเกินไป คนจนไม่สามารถเข้าสู่การรักษาบางอย่างได้ทันท่วงที เพราะภาระของหมอมันเยอะเกินไป อย่างมีช่วงที่ผมใช้ทุนเพื่อนของผมอยู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ทำแผนกศัลยกรรมประสาท หรือ ผ่าสมอง นั่นเองคืนๆ หนึ่งมีเคสต้องผ่าสมองเป็น 10 คน ต่อหมอ 1 คน แล้วคุณคิดว่าจะทันไหมครับ?
คือ 10 คนก็นอนเรียงกัน แล้วหมอก็ผ่าไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเกิดใครมาผ่าเป็นหัวที่ 10 แล้วเป็นเลือดออกในสมองตายไปแล้ว ก็ไม่ทันผ่าครับ และปัญหาเหล่านี้มันก็มีอยู่จนถึงตอนนี้ อาจจะดีขึ้นบ้างตรงที่พยายามหาศัลยแพทย์ประสาทจากโรงพยาบาลข้างเคียง มาคอยช่วยได้บ้าง แต่ว่ามันก็ยังติดเรื่องนี้อยู่ดี
เพราะฉะนั้นเมื่อเราดูจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความคิดหนึ่งซึ่งที่ผมเจอแล้วก็อยากจะเปลี่ยนแปลงก็คือ คนที่เคยอยู่ในระบบมาก่อน คนที่อายุเยอะและทำงานอย่างนี้มาก่อน เมื่อขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร เขาอาจจะลืมตัวไป เขาอาจจะบอกว่าสมัยรุ่นเขายังทนได้ รุ่นน้องทำไมทนไม่ได้แค่นี้ก็ลาออก แล้วก็บอกอีกว่าคุณก็ต้องทนต่อไป เงินเราก็มีเท่านี้ คุณต้องรับใช้ชาติคุณต้องเสียสละเพื่อประชาชนไม่อย่างนั้นอย่ามาเรียนหมอดีกว่า
คำพูดเหล่านี้แหล่ะครับ ที่จะทำให้คนออกไปจากหมอ ออกไปหมดเลย เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มให้กับประชาชนอีกต่อหนึ่งด้วยคำพูดเพียงแค่นี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้ต้องการเงินมากเท่ากับคุณภาพชีวิต ถ้าเราอยู่ในโรงพยาบาลอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกัน และกันเรามีความสุขในการทำงาน เงินเราไม่ต้องเยอะขนาดนั้น ขอให้มันอยู่ได้ก็พอ แต่ที่เหลือขอให้มีความสุข ทุกคนก็ทำงานได้ ทุกคนก็พร้อมที่จะเสียสละ แต่ถ้าหากวันนึงมันเสียสละไม่ไหวก็จะเป็นแบบนี้
ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วมันเป็นแบบนี้ มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสมมุติว่าชาติเรามันมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ทำให้คนในชาติสามัคคีกันได้ แล้วก็ทุกคนรู้ว่าการแบ่งปันนโยบายมาเพื่อแก้ไขในเรื่องของสาธารณสุขมันควร ทำผมว่ามันก็ดีขึ้นได้
หมอดูแลสุขภาพคนอื่น จนไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเองเลย?
ค่อนข้างจริงเลยครับ