
สรุป "จอนนี่ มือปราบ" แจงปมสร้างรีสอร์ต บุกรุกนิคมฯ ลำโดมน้อย
สรุปประเด็น "จอนนี่ มือปราบ" โต้กลับ ปมสร้างรีสอร์ต บุกรุกนิคมฯ ลำโดมน้อย ด้าน "อธิบดี พส." ชี้แจงข้อกฎหมาย แนะทางออก
จากกรณี นายวัชระ โกเสนตอ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจ จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำหลักฐานเอกสารเข้าแจ้งความกับ บก.ปทส. เพื่อให้ตรวจสอบรีสอร์ตของ ด.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์ หรือ "จอนนี่ มือปราบ" ว่าสร้างรุกล้ำพื้นที่ "นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย" จ.อุบลราชธานี
ต่อมา "จอนนี่ มือปราบ" ได้แจ้งความกลับ 3 ข้าราชการ ได้แก่ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, นักวิชาการกรมฯ และ ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
8 ก.ค. 2568 "จอนนี่ มือปราบ" ไปนั่งพูดคุยประเด็นดังกล่าว ผ่าน "รายการโหนกระแส" ซึ่งมี "หนุ่ม กรรชัย" เป็นผู้ดำเนินรายการ
"จอนนี่ มือปราบ" เล่าไทม์ไลน์ ว่า ที่ดินแปลงนี้ อยู่ในพื้นที่ หมู่ 6 บ้านห้วยไฮ ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ตรงนั้นเรียกว่า "นิคมสร้างตนเองลําโดมน้อย" เนื้อที่ประมาณ 2.4 หมื่นไร่ เป็นหมู่บ้านที่เขาประกอบธุรกิจล่องแพ มีรีสอร์ต พูลวิลล่า
ตนเองได้ที่แปลงนี้มาประมาณ 2-3 ไร่ เมื่อปี 2564 พร้อมโชว์เอกสารการซื้อขาย ราคา 5.4 แสนบาท โดยซื้อต่อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าของที่มีบ้าน สวน และฟาร์ม มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เซ็นรับรอง
ก่อนจะซื้อได้ถามคนในหมู่บ้านมาสามารถซื้อได้หรือไม่ มีเอกสารสิทธิ์อะไร ตนตรวจสอบไม่พบเอกสาร น.ค.1 และ น.ค.3 เลย ซึ่งหากจะอ้างตามหลักกฎหมาย เมื่อปี 2511 (สมัยนั้นคือกรมประชาสงเคราะห์) เป็นกรณีชาวบ้านได้รับการคัดเลือกมาเป็นสมาชิกนิคมฯ แต่ชาวบ้านหลายคน ครอบครองมาที่ดินมาก่อนหน้านี้ เขาขายต่อๆ กันมา ซึ่งจอนนี่ ตั้งคำถามว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าว มีการปลูกสร้างรีสอร์ต จำนวนมาก แต่ทำไม ตนเองถึงโดนตรวจสอบคนเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
จอนนี่ มือปราบ ได้โชว์ภาพถ่าย การทำประชาคมหมู่บ้าน เมื่อเดือน พ.ค. 2565 อนุญาตให้จอนนี่ มาสร้างรีสอร์ต ทุกคนเห็นด้วย อยากให้หมู่บ้านเจริญ ถ้าเขามี น.ค.1 และ น.ค.3 ตนไม่ไปซื้อ เพราะรู้ว่าซื้อขายไม่ได้ ตนมองว่าที่โดนกลั่นแกล้งแบบนี้ เพราะก่อนลาออกจากตำรวจ ได้ไปวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งตนวิจารณ์ไปเพียงครั้งเดียว ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนายกฯ ถูกปลด ตนก็ไม่เคยซ้ำเติม
เมื่อถามว่าเคยมีเอกสารมาไล่ที่หรือไม่ "จอนนี่ มือปราบ" ยอมรับว่า เมื่อปี 2565 เคยมีหนังสือร้องเรียน และมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ
ต่อมา นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้โฟนอินเข้ามาพูดคุยในรายการ ระบุว่า ประเด็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ ไม่ได้เกิดแห่งเดียว แต่ใน 33 จังหวัด มีกรณีแบบนี้ขึ้น ได้เข้าไปใช้มาตรการไกล่เกลี่ย สอบถามข้อเท็จจริง ว่าเหตุใดพี่น้องประชาชนถึงเข้ามาบุกรุกในที่ดินของรัฐ หากอ้างว่ามาอยู่ก่อนการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองฯ ก็ต้องหาเอกสารหลักฐานทางราชการมาพิสูจน์
สำหรับนิคมฯ ลำโดมน้อย มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2506 มาออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เมื่อปี 2518 เราไปค้นดูภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2515 พื้นที่อ้างสิทธิ์ มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่ ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่
นายกันตพงศ์ กล่าวอีกว่า คนที่จะมาเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด เมื่อสมัครมาเป็นสมาชิก คนที่จะวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นสมาชิก คือ คณะกรรมการระดับจังหวัด เมื่อได้รับอนุญาต ก็จะจัดแปลงที่ดินให้สมาชิกรายนั้นเข้ามาทำกิน ตามกำลังของครอบครัว ๆ ละ ไม่เกิน 50 ไร่ ไม่รวมการทำรีสอร์ต และจะโอน จำหน่าย ขาย หรือเปลี่ยนมือไม่ได้
เมื่อทำกินไประยะหนึ่ง นิคมฯ จะออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ เรียกว่า นค.1 สำหรับสมาชิกที่เข้าทำประโบชน์ที่ดินแปลงนั้น เมื่อเข้าทำประโยชน์ตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็จะได้ น.ค.3 คือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อสมาชิกได้ น.ค.3 สามารถนำไปออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ทันที ซึ่งหนังสือนี้จะประทับตราตัวแดงไว้ว่า "ห้ามจำหน่าย โอน ภายใน 5 ปี เว้นแต่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท"
"เราไม่ได้สู้อะไรกันครับ คุณจอนนี่ อาจจะไม่เข้าใจในกระบวนงานของนิคมสร้างตนเอง ราชการไม่มีหน้าที่ไปสร้างปฏิปักษ์ หรือให้ประชาชนเป็นศัตรู" นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าว
จอนนี่ ตั้งคำถามว่า ทำไมหมู่บ้านนี้ ไม่มีเอกสาร น.ค.1 และ น.ค.3 เพื่อไปยื่นขอออกโฉนด เมื่อตนมาซื้อต่อในใบ ภ.บ.ท.5 คุณกลับเอาระเบียบมาเอาผิด ซึ่งตนยืนยันความบริสุทธิ์ใจ ในการเข้าไปครอบครองตั้งแต่เริ่มต้น
นายกันตพงศ์ ตอบข้อซักถามกรณีดังกล่าวว่า เนื่องจากมีการพิสูจน์แล้ว ว่าที่ตรงนั้นสงวนไว้เป็นที่ป่า ถ้าราษฎรคนใดที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าไปครอบครองทำกิน ทำประโยชน์อย่างไร ก็ไม่สามารถออก น.ค.1 และ น.ค.3 ให้ได้ ซึ่งทางแก้คือ จะต้องมีการสำรวจให้ หากที่ดินในนิคมฯ ไม่ได้มีสภาพพื้นที่ป่าแล้ว ขอยกเว้นจัดสรรแก่สมาชิก หรือให้คนเหล่านี้ เข้ามาเป็นสมาชิกนิคมฯ แต่จะเข้ามาเป็นสมาชิกได้หรือไม่ ต้องไปดูคุณสมบัติ ตามมาตรา 22
ถามว่ากรณีของจอนนี่ มือปราบ ต้องทำอย่างไร นายกันตพงศ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้แนะนำไปแล้ว หากยืนว่าอยู่ก่อนการจัดตั้งนิคมฯ หรือได้สิทธิ์นี้มาโดยความเป็นสมาชิกนิคมฯ จริง ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณจอนนี่ มีหลักฐานทางราชการยืนยันว่าคุณจอนนี่ อยู่ในพื้นที่นี้จริงหรือไม่ และมีคุณสมบัติ เป็นสมาชิกนิคมฯ ตามมาตรา 22 หรือไม่
จอนนี่ มือปราบ ตอบกลับว่า "ผมกล้าเอาเงินเป็นล้านไปลงทุน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ท่านไม่มองจุดนี้บ้าง หากท่านเลือกปฏิบัติ ผมยินดีต่อสู้กับท่าน จะรื้อรีสอร์ตผมก็ได้ แต่หาทางออกให้ชาวบ้านทั้งประเทศ เพื่อให้เขามีเอกสารสิทธิ์"
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นรายการ "จอนนี่ มือปราบ" ได้เล่าสาเหตุที่ลาออกจากตำรวจ ว่า "ตั้งแต่รับราชการมา ผมทำหน้าที่เพื่อชาวบ้าน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จับโจรเหล่าร้าย มาเยอะแยะมากมาย แต่ระบบไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ ในเมื่อเราไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ผมตัดสินใจลาออกมา 8 ปีแล้ว ยื่นเรื่องหลายครั้ง แต่ผู้บังคับบัญชายังเลือกไว้ใช้งาน ด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ
ในขณะที่ยังรับราชการอยู่ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกร้องเรียน ตรวจสอบทุกเรื่อง ตื่นเช้ามาต้องเขียนรายงานชี้แจง โดนกักขัง มาเป็นเวลา 10 ปี มันอึดอัดมาก ใจอยากอยู่ช่วยชาวบ้าน แต่โดนกระทำมาตลอด อย่างเคสนี้ ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2565 ตอนนั้นยังรับราชการ มันมีระเบียบวินัย จะตอบโต้ก็ทำไม่ได้ แล้วยิ่งโดนเหยียบ โดนกระทำแบบนี้