
เตือนภัยหน้าฝน! เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ถูกตะขาบกัด หามส่ง รพ. กลางดึก
เตือนภัยหน้าฝน! เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ถูกตะขาบกัด หามส่ง รพ. กลางดึก แพทย์แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อโดนตะขาบกัด
20 พ.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเตือนภัย หลังลูกสาววัย 3 ขวบ ถูกตะขาบกัดบริเวณปากขณะนอนหลับอยู่ในบ้าน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา
โดยคุณแม่ของเด็กหญิง ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบเล่าเหตุการณ์ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ลูกสาวได้กรีดร้องขึ้นมากลางดึก ทำให้ตนตกใจรีบลุกขึ้นมาเปิดไฟดู พบว่าบริเวณที่นอนมีเลือดเปรอะเปื้อน และเมื่อสังเกตบริเวณปลายพัดลมที่ปลายเตียง ก็พบตะขาบขนาดใหญ่กำลังเลื้อยอยู่ คาดว่าเป็นต้นเหตุที่กัดลูกสาว
จากนั้นเธอได้รีบพาลูกสาวไปยังโรงพยาบาลโดยเร็ว แพทย์ทำการฉีดยาเข้าทางเส้นเลือด และดูแลอาการอย่างใกล้ชิดในห้องฉุกเฉิน โดยแพทย์ระบุว่า บริเวณที่ถูกกัดอาจมีอาการบวมและเจ็บปวดเป็นปกติ พร้อมแนะนำให้ประคบเย็นบริเวณแผลเป็นระยะ รวมทั้งให้ทานยาตามที่แพทย์สั่ง ในเบื้องต้น เด็กหญิงไม่มีอาการแพ้พิษตะขาบ และอาการโดยรวมดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่บ้านภายใต้การดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยคุณแม่ได้อัปเดตว่า ลูกสาวสามารถประคบเย็นได้เอง กินยาและดูแลแผลอย่างมีวินัย และได้กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจจากผู้ที่แสดงความเป็นห่วง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำคัญในช่วงฤดูฝน ที่สัตว์มีพิษอย่างตะขาบมักเลื้อยเข้ามาในบ้านเพื่อหลบความชื้นและความเย็น โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรหมั่นตรวจสอบความสะอาดในบ้าน และระวังจุดอับชื้น เช่น ใต้เตียง พัดลม หรือมุมห้องต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิด บรรยายภาพ เด็กหญิงวัย 3 ขวบถูกตะขาบกัดกลางดึก แม่โพสต์เตือนผู้ปกครองระวังสัตว์มีพิษในบ้าน
โดย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ และอาศัยอยู่ในหลายแหล่งพื้นที่ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ฯลฯ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นจนท่วมแหล่งที่อยู่อาศัย ตะขาบอาจจะหนีน้ำมายังที่พักอาศัยของคนได้ ดังนั้นตะขาบจึงเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยเมื่อเวลาน้ำท่วม และตะขาบจะกัดคนโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าไปในแผลที่กัด
โดยปกติพิษจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวด คัน บวม แดงร้อน ในบริเวณที่ถูกกัด อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย และมักมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อตะขาบกัด
- ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
- สามารถประคบน้ำเย็นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการปวด
- หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
- ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
- ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
- ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที