ข่าว

ท่าน ว.วชิรเมธี ยืนยัน ไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง แค่ช่วงโลว์ซีซั่น

ท่าน ว.วชิรเมธี ยืนยัน ไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง แค่ช่วงโลว์ซีซั่น

19 พ.ค. 2568

ท่าน "ว.วชิรเมธี" ยืนยัน ไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง แค่ช่วงโลว์ซีซั่น ไม่ขอก้าวล่วงปมวัดอื่นฟอกเงิน ยันวัดไร่เชิญตะวัน มีบัญชีชัดเจน

19 พ.ค. 68 ผู้สื่อข่าวติดตามกรณีสื่อและโซเซียลนำเสนอข่าวว่าไร่เชิญตะวันเงียบเหงา มีสภาพเป็นวัดร้าง จึงเดินทางไปที่ไร่เชิญตะวัน หรือชื่อเต็มๆ ว่า ศูนย์วิปัสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ซึ่งสร้างและดูแลโดยท่าน ว.วชิรเมธี หรือ พระเมธีวชิโรดม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย 

 

ท่าน ว.วชิรเมธี ยืนยัน ไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง แค่ช่วงโลว์ซีซั่น

หลังจากที่ผ่านมาได้มียูทูบเบอร์หลายคน นำเสนอคลิปภาพเรื่องราวในทำนองว่า หลังจากเกิดกรณี "ดิไอคอน" แล้ว ไร่เชิญตะวันมีสภาพรกร้างไร้ผู้คน และตัวของท่าน ว.วชิรเมธี เองก็ไม่ได้เข้าไปที่ไร่เชิญตะวันอีกเลย จนเกิดคำถามว่า ว.วชิรเมธี อยู่ไหน? ก่อนอื่น ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของท่าน ว.วชิรเมธี จากเพจเฟซบุ๊กชื่อ "พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี (V vajiramedhi)" พบว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ท่าน ว.วชิรเมธี อยู่ในงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิต วัดหลวงพ่อชื่นพุทธาราม จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น 


 

และระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ ของโรงเรียนวัดครึ่งใต้วิทยา (พระปริยัติธรรมแผนกธรรม-สามัญ) อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจัดขึ้นภายในไร่เชิญตะวัน เช้าวันนี้ทีมข่าวที่ จ.เชียงราย เข้าไปที่ไร่เชิญตะวัน โดยได้ไปสอบถามจากผู้ปฏิบัติงานภายในไร่เชิญตะวัน จึงทราบว่า ท่าน ว.วชิรเมธี อยู่ที่ไร่เชิญตะวันพอดี ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปพบ 


โดยท่าน ว.วชิรเมธี บอกว่าที่ผ่านมาติดภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะมีวัดที่ประเทศญี่ปุ่น 3 วัด ต้องไปๆ มาๆ และเมื่อต้นเดือนก็เพิ่งมีงานตัดลูกนิมิตรพระราชทานจากในหลวง เพิ่งเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นได้ประมาณ 1 อาทิตย์ โดยท่าน ว.วชิรเมธีได้พาทีมข่าวไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ภายในไร่เชิญตะวัน ซึ่งเบื้องต้นสถานที่ต่างๆ ก็อยู่ในสภาพที่สะอาดสะอ้าน ได้รับการดูแลเอาใจใส่เจ้าบุคคลากรของไร่เชิญตะวันเป็นอย่างดี บรรยากาศภายในไร่เชิญตะวันยังดูสงบเงียบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม แต่ที่เห็นว่ามีผู้คนจำนวนน้อยลงอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้เป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะเยอะ ยืนยันไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง ยังมีประชาชนเข้าไปกันตามปกติ 

ท่าน ว.วชิรเมธี ยืนยัน ไร่เชิญตะวันไม่ได้ร้าง แค่ช่วงโลว์ซีซั่น
โดยเฉพาะท่าน ว.วชิรเมธี บางวันมีประชาชนเข้าไปนมัสการเยอะจนแทบไม่มีเวลาได้ฉันภัตตาหาร ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า ไม่กี่วันก่อนมียูทูบเบอร์ได้บุกรุกเข้ามาถ่ายภายในวัดหลังช่วงเวลาทำการ (เปิด 09.00-17.00 น.) และไปถ่ายบริเวณกุฏิเก่าและโกดัง ซึ่งอยู่ในระหว่างปรับปรุง หลังจากนั้นก็เอาไปลงโซเซียล บอกว่าวัดร้าง ไร้ผู้คน ซึ่งหลังจากทราบข่าวทางลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักกฏหมายก็ไม่พอใจ และเดินหน้าดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมายแล้ว 

อาตมาอยากวอนไปยังยูทูบเบอร์และผู้สื่อข่าว ให้นำเสนอข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง อย่ารู้ผิด คิดเอา เดาเก่ง แล้วว่ากันเอาเอง เพราะมันกระทบกับภาพลักษณ์ กระทบความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในภาพรวม ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ชีชั่น เป็นฤดูฝน ปกติก็ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว เป็นเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ แต่สำหรับ จ.เชียงราย ช่วงปีที่ผ่านมา จ.เชียงราย เจอปัญหาน้ำท่วมยาวนานกว่า 3 เดือน พอมาต้นปีก็เจอ PM 2.5 ล่าสุดก็เจอปัญหาน้ำกกปนเปื้อนสารพิษอีก ว่ากันตามตรงสถานที่ท่องเที่ยวทุกที่นักท่องเที่ยวก็บางตาเหมือนๆกัน แต่ที่ไร่เชิญตะวันมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 


อย่างวันวิสาขบูชาที่ผ่านมาก็มีคนมาร่วมงานอย่างคึกคัก และอีกไม่กี่วันก็จะมีชาวต่างชาติมาเข้ารับการอบรมวิปัสสนาที่วัดอีกกว่า 200 คน จะมาบอกว่าไร่เชิญตะวันเป็นวัดร้าง มันก็เท่ากับเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องดำเนินการไปตามข้อกฏหมาย "สำหรับประเด็นที่ช่วงนี้มีวัดหรือสำนักสงฆ์อื่น เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินผิดกฏหมาย ทางอาตมาคงไม่ไปก้าวล่วงการดำเนินงานของสถานที่อื่น แต่สำหรับที่วัดไร่เชิญตะวันมีการดำเนินงานในรูปแบบของ "มูลนิธิ" มีบัญชีรายรับรายจ่ายชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา" ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าว 


และล่าสุด ในวันนี้ (19 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เพิ่งแจ้งฉันทามติตั้งกองทุนวิจัยทางด้านพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี โดยกราบอาราธนาท่าน ว.วชิรเมธี เป็นที่ปรึกษา และเป็นประธานกองทุนในชื่อ The Vajiramedhi Shcollaship in Pali Studies (ทุนวิจัยด้านบาลีศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก โดย ท่าน ว.วชิรเมธี) เพื่อสร้างนักวิจัยและนวัตกรรมด้านพระพุทธศาสนาสายเถรวาทแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งถือการตั้งกองทุนในนามของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีผลงานเชิงวิชาการอยู่ในระดับโลกของมหาวิทยาลัย Oxford ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยและครั้งแรกของโลก