ข่าว

หัวหน้า​ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ โต้กลับ "ทราย สก็อต" ปม "หมู่บ้านมอแกน"

หัวหน้า​ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ โต้กลับ "ทราย สก็อต" ปม "หมู่บ้านมอแกน"

05 พ.ค. 2568

หัวหน้า​ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ โต้กลับ "ทราย สก็อต" ปม "หมู่บ้านมอแกน" ปูดพฤติกรรม ชวนเด็กไปสร้างคอนเทนต์ ไม่แจ้งผู้ปกครอง ไม่ได้รับค่าจ้าง

จากกรณี "ทราย สก็อต" โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดโปงความจริงเบื้องหลังหมู่บ้านมอแกน ที่ใครๆ ไม่กล้าพูด เล่าเรื่องสะเทือนใจชีวิตจริงของเด็ก "กล้าทะเล" ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

4 พ.ค. 2568​ นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมระบุว่า โพสต์ดังกล่าว สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนในหลายประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชาวไทยมอแกน และการบริหารจัดการภายในอุทยานฯ

นายเกรียงไกร แจกแจงข้อเท็จจริงเป็น 5​ ประเด็นหลัก ดังนี้​

1. การตั้งถิ่นฐานและการดูแลชาวมอแกน : หัวหน้าอุทยานฯ ยืนยันว่า การย้ายชาวมอแกนจากวิถีชีวิตดั้งเดิมบนเรือกะบางมาตั้งถิ่นฐานถาวรที่อ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานราชการหลายภาคส่วนเข้ามาดูแล ทั้งด้านการศึกษาผ่านศูนย์การเรียนรู้ กศน. ซึ่งมีครูประจำ 4 อัตรา และด้านสาธารณสุขผ่านศูนย์สาธารณสุขมูลฐานที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดทั้งปี ไม่ใช่การทอดทิ้งแต่อย่างใด

2. ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก : นายเกรียงไกรปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง โดยชี้แจงว่าอุทยานฯ มีการจ้างงานชาวมอแกนที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ด้วยค่าจ้างวันละ 200-250 บาท สำหรับการทำงานประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน พร้อมอาหารเช้าและกลางวัน ซึ่งผู้ถูกจ้างสามารถนำอาหารกลับบ้านได้ด้วย

ส่วนกรณีบริษัททัวร์มีการจ้างชาวมอแกนผู้ใหญ่ในอัตราเงินเดือน 8,000-12,000 บาท (ไม่รวมทิป) ภาพเด็กที่ปรากฏเป็นการติดตามผู้ปกครองมา ไม่ใช่การจ้างงานเด็ก อุทยานฯ ยังดูแลเรื่องอาหารเช้าและเที่ยงแก่เด็กๆ ที่ติดตามผู้ปกครองมาเหล่านี้ด้วย และทางบริษัททัวร์ก็ยืนยันเช่นกัน ว่าไม่มีนโยบายจ้างหรือใช้แรงงานเด็ก
 

หัวหน้า​ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ โต้กลับ \"ทราย สก็อต\" ปม \"หมู่บ้านมอแกน\"

3. ประเด็นการไม่ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต : หัวหน้าอุทยานฯ เปิดเผยว่า ได้มีการประสานงานกับนายตะวัน กล้าทะเล ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและญาติของผู้เสียชีวิตแล้ว โดยนายตะวัน แจ้งว่าได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายศพและจัดการเอกสารต่างๆ ด้วยตนเองโดยใช้เรือส่วนตัว และไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากทางอุทยานฯ เนื่องจากเห็นว่าสามารถจัดการได้เอง

4. ข้อกล่าวหาบังคับเด็กชายถอดเสื้อถ่ายรูป : นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากการตรวจสอบกับบริษัททัวร์ที่เกี่ยวข้อง ไม่พบว่ามีการบังคับให้เด็กชายชาวมอแกนถอดเสื้อเพื่อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวหญิงแต่อย่างใด การที่ผู้ชายชาวมอแกน ไม่ว่าจะเป็นคนขับเรือ หรือผู้ดูแลนักท่องเที่ยว ถอดเสื้อหลังเสร็จสิ้นภารกิจทางน้ำ ถือเป็นวิถีปฏิบัติปกติ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการถ่ายรูปหรือถูกบังคับ

5. กรณีการมาของคุณทราย สก็อต : หัวหน้าอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่า คุณทราย สก็อต และทีมงาน ได้แจ้งวัตถุประสงค์การเดินทางมาเมื่อวันที่ 6-9 ก.พ. 2567 ว่าเพื่อสำรวจทรัพยากรใต้น้ำและเก็บขยะ อย่างไรก็ตาม มีการติดต่อเด็กชาวมอแกน 2 คนโดยตรง เพื่อชวนไปทำกิจกรรมเก็บขยะใต้ทะเลแบบ Freediving เพื่อสร้างคอนเทนต์ โดยไม่ได้แจ้งผ่านผู้ปกครองหรือทางอุทยานฯ ซึ่งเด็กทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างเป็นตัวเงิน แต่ได้รับสิ่งของตอบแทน (แว่นตา, กางเกง, เสื้อ คนละ 1 ชุด) และเมื่อถูกชวนอีกในวันถัดมา เด็กๆ ได้ปฏิเสธเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อย

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ย้ำว่า "ข้อมูลทั้งหมดที่ชี้แจงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ อุทยานฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเสมอมา การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอาจสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ซึ่งผู้กระทำการอาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายได้"

ซึ่งการชี้แจงครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน และยืนยันถึงแนวทางการบริหารจัดการและการดูแลชุมชนชาวมอแกนของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้