ข่าว

นักวิชาการตอบชัด! ใครบอกอีสานไม่มีรอยเลื่อน? เสี่ยงแผ่นดินไหว?

นักวิชาการตอบชัด! ใครบอกอีสานไม่มีรอยเลื่อน? เสี่ยงแผ่นดินไหว?

02 เม.ย. 2568

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ นักวิชาการออกมาไขข้อสงสัย! ใครบอกว่าอีสานไม่มีรอยเลื่อน? พร้อมเปิดข้อมูล ภาคอีสานมีรอยเลื่อนมีพลังกระจายตัวในภูมิภาค เสี่ยงแผ่นดินไหวหรือไม่?

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ในโลกโซเชียลต่างแชร์ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวรวมถึงอีกหนึ่งข้อมูลที่มีการแชร์กันมากนั้นก็คือ ภาคอีสานไม่ลอยเลื่อนที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวทางด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนไขข้อสงสัย  ใครบอกว่าอีสานไม่มีรอยเลื่อน?

 

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

 

โดยโพสต์เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua  โดยระบุข้อความว่า....ใครบอกว่าอีสานไม่มีรอยเลื่อน? เอกสารการตรวจสอบรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย โดยอาจารย์อดิศร ฟุ้งขจร ระบุว่า ในภาคอีสานมีรอยเลื่อนมีพลัง 12 รอยเลื่อน ที่กระจายตัวในภูมิภาค ผมนำข้อมูลเฉพาะรอยเลื่อนที่ยาวเกิน 50 กม. และเกิน 100 กม. จำนวน 6 รอยเลื่อน มาให้เรียนรู้กันครับ เพราะรอยเลื่อนมีพลังยิ่งยาวก็ยิ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงกว่ารอยเลื่อนมีพลังที่สั้น รอยเลื่อนที่ยาวเกิน 100 กม.

 

นักวิชาการตอบชัด! ใครบอกอีสานไม่มีรอยเลื่อน? เสี่ยงแผ่นดินไหว?

 

ที่เราต้องให้ความสำคัญมี 2 รอยเลื่อน คือ

 

1.รอยเลื่อนโคราช พาดผ่านอำเภอครบุรี อำเภอโชคชัย อำเภอเมือง อำเภอขามทะเลสอ อำเภอสูงเนิน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 193 กิโลเมตร

 

2.รอยเลื่อนท่าอุเทน พาดผ่านตามแนวพรมแดนไทย-ลาว ด้านอำเภอเมือง อำเภอท่าอุเทน อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 136 กิโลเมตร

 

 

นักวิชาการตอบชัด! ใครบอกอีสานไม่มีรอยเลื่อน? เสี่ยงแผ่นดินไหว?

 

ส่วนรอยเลื่อนที่มีความยาวเกิน 50 กม. แต่ไม่ถึง 100 กม. ได้แก่

 

1.รอยเลื่อนภูเขียว พาดผ่านอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอภักดีชุมพรและอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 72 กิโลเมตร

 

2.รอยเลื่อนภูเรือ พาดผ่านอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร

 

3.รอยเลื่อนหนองบัวแดง พาดผ่านอำเภอบ้านเขว้า อำเภอเมือง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 56 กิโลเมตร

 

4.รอยเลื่อนสตึก พาดผ่านอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรและอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 55 กิโลเมตร
รอยเลื่อนสตึกมีการเคลื่อนตัวเมื่อปีที่แล้วนี่เอง มีขนาด 2.9 และ 3 (ดูภาพ 2) รอยเลื่อนอื่นๆ ดูจากลิงก์ในคอมเมนต์ครับ

 

 

บุรีรัมย์แผ่นดินไหว !  22 กค. 2567 ได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 2.9 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. มีศูนย์กลางที่ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ  24 กค.2567 เวลา 18.01 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. ศูนย์กลางที่ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ห่างจากจุดเดิม 10 กม.

 

สำหรับแผนที่นี้ เป็นแผนที่แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหว (intensity) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตตามมาตราเมอร์คัลลิ ที่แสดงให้เห็นว่าในอนาคตพื้นที่ส่วนใหญ่ในอีสานมีความรุนแรงของแผ่นดินไหว อยู่อันดับ III ตามมาตราเมอร์คัลลิ ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึก แต่เครื่องมืออาจตรวจจับได้ มีบางพื้นที่ เช่น ยางส่วนขอวนครพนม บึงกาฬ หนองคาย และชัยภูมิ ที่มีความรุนแรงอยู่อันดับ IV และ V ตามมาตราเมอร์คัลลิ คือ คนส่วนใหญ่รับรู้ได้ อาคารสั่นไหว สิ่งของขยับ ที่สำคัญ บางส่วนของนครพนม และบึงกาฬ อาจเกิดความรุนแรงอันดับ IV ตามมาตราเมอร์คัลลิ คือ สิ่งก่อสร้างไม่แข็งแรงพัง ของหนักเคลื่อนจากที่เดิม

 

แผนที่นี้ จึงไม่เกี่ยวกับอีสานไม่มีรอยเลื่อน และจะกล่าวว่าในภาคอีสานไม่มีรอยเลื่อน หรือไม่เกิดแผ่นดินไหว ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าภาคอีสานมีความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตอยู่ในอันดับต่ำตามมาตราเมอร์คัลลิ

 

ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลนี้ การออกแบบและก่อสร้างอาคารสาธารณะ อุโมงค์ อาคารเกิน 5 ชั้น ในบริเวณ V และ VI ตามมาตราเมอร์คัลลิ ก็ควรออกแบบและก่อสร้างให้รองรับแผ่นดินไหวด้วย และต้องระวังกิจกรรมของมนุษย์ที่จะไปกระตุ้น (triggering) ให้เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะการสร้างอ่างเก็บน้ำ และการระเบิดแผ่นดินเพื่อทำเหมือง เช่น เหมืองโปแตชที่ด่านขุดทดซึ่งอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนโคราช นอกจากรอยเลื่อนเหล่านี้แล้ว รอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้านก็สำคัญมาก และส่งผลต่อความรุนแรงของแผ่นดินไหวในภาคอีสานได้ โดยเฉพาะรอยเลื่อนแม่น้ำแดง วันหน้าจะเอาข้อมูลชุดนี้มาให้เรียนรู้กันครับ