
เห็นแล้วอึ้ง! เพจดังเปิด ราคาเก้าอี้ ในตึก สตง. ราคาเฉียดแสน
เห็นแล้วอึ้ง! เพจดังเปิด ราคาเก้าอี้ ในห้องประชุมตึก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ราคาตัวละเฉียดแสน พร้อมแนบลิงก์รายละเอียดฉบับเต็ม
จากกรณีเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เกิดแผ่นดินไหวขนาดความลึก 10 กิโลเมตรความรุนแรงระดับ 8.2 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางบริเวณลอยเลื่อนสกาย ประเทศเมียนมา ขณะที่ประเทศไทยวัดระดับความแรงได้ที่ 7.7 แมกนิจูด ส่งผลให้ตึกสูงทั่ว กทม. รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ประชาชนหนีตายระทึก ขณะที่ตึกสูงย่านจตุจักร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ถล่มลงมา และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก
ล่าสุดเฟซบุ๊กเพจ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน แชร์ต่อข้อความจากเพจ ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย ที่มีผู้ติดตามอยู่มากกว่า 1.7 แสนราย ได้โพสต์ เอกสาร ซึ่งอ้างเป็นตรวจราคาครุภัณฑ์ อาคาร สตง. ระบุ ราคาเก้าอี้ห้องประชุม อยู่ที่ตัวละ 97,900 บาท พร้อมแนบลิงก์รายละเอียดโครงการก่อสร้างฉบับเต็มให้อ่าน
โดยรายละเอียดระบุว่า
- เก้าอี้สำหรับประธานในห้องประชุม หุ้มหนังแท้นำเข้าจากอิตาลี ราคา 97,900 บาท
- โต๊ะทำงานห้องผู้ว่า สตง. ราคา 105,500 บาท
- โซฟาห้องรับรอง ราคา 165,000 บาท ส่วนโซฟาอีกตัวปิดด้วยแผ่นทองนำเข้าจากอิตาลี
- โต๊ะทานข้าวสำหรับผู้ว่าฯ และประธานกรรมการ สตง. ราคา 90,000 บาท (ไม่รวมเก้าอี้)
- พรมปูพื้นขนาด 6 x 5.5 เมตร จำนวน 1 ผืน ราคา 165,000 บาท
หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตแห่แชร์ต่อและแสดงความเห็นสนั่น อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ สตง. เคลื่อนไหว ออกแถลงการณ์ ระบุว่า
30 มี.ค. 2568 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหาย ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยภายหลังจากที่ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน
พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ดังนี้
-การออกแบบอาคาร สตง. ยืนยันได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคาร ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561
-กระบวนการก่อสร้างอาคาร สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการ จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ ได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี(บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่าย ไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
-การบริหารสัญญาก่อสร้าง สตง. ให้ความสำคัญกับการดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบรูป รายการและข้อกำหนดในสัญญา และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศฯ ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะกรณีการพิจารณาการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร เนื่องจากการก่อสร้าง อาคารในเขตกรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
โดยนำเงื่อนไขค่าหน่วยแรงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณาเปรียบเทียบ และเลือกใช้ค่าหน่วยแรงที่มากกว่า ในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ภายใต้การให้มีการรับรองและยืนยันอย่างครบถ้วน ทั้งจากผู้ออกแบบก่อสร้าง ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงผลตอบข้อหารือจากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการ ก่อสร้างอาคารซึ่งทั้งหมดเป็นผู้มีวิชาชีพโดยตรงในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สัญญาจ้างก่อสร้าง ดังกล่าวมีการประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญา
สำหรับกรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในการออกแบบรูปรายการละเอียด ผู้ออกแบบจัดทำตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้น มีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 x 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้ กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่ง สตง. ได้ติดตามตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างอยู่เสมอ
-การควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการ ควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุม งานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท
ผู้ควบคุมงานต้องควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของ พัสดุในการก่อสร้างทุกรายการตามแบบรูปรายการ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว สตง. ได้ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการ เปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลา ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น
จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท (คิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่า ราคา กลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท) นอกจากนี้ สตง. ยังได้แสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต โดยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความ ร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต อีกทั้งยังได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
สตง. มีความห่วงใยและมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ประสบภัยและภาคส่วนต่าง ๆ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าจากเหตุแผ่นดินไหว