
ไขข้อสงสัย แสงประหลาด เหนือท้องฟ้า ยัน ไม่ใช่แสงจาก UFO ต้นเรื่องมาจากจีน
นักดาราศาสตร์ ไขข้อสงสัย หลังโซเชียล ฮือฮา "แสงประหลาด" เหนือท้องฟ้า ยันแล้ว ไม่ใช่แสงจาก UFO ต้นเรื่องมาจากประเทศจีน
17 ธ.ค. 2567 กรณี โลกออนไลน์แชร์ภาพของ แสงปริศนา ที่ได้ปรากฏบนท้องฟ้า ฝั่งทิศตะวันตก โดยสามารถมองเห็นได้จากหลายจังหวัดทางตอนบนของประเทศไทย ซึ่งโลกออนไลน์ต่างคาดเดาไปมากมายว่าเป็นแสงจากอะไร ดาวหาง หาวเทียว จรวด หรือ UFO
ล่าสุด มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความ ไขข้อสงสัย ถึงกรณีของ แสงประหลาดเหนือท้องฟ้าดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า
ทางผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ของ สดร. ออกมาชี้แจ้ง แล้วครับว่า "แสงปริศนาช่วงหัวค่ำ 16 ธ.ค. เหนือน่านฟ้าประเทศไทย สอดคล้องกับจรวด Long March 5B จากจีน"
เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 19:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย ปรากฏแสงปริศนา มีลักษณะเป็นแสงสีขาวพร่ามัว รูปร่างเป็นโคนคล้ายดาวหาง เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ พบเห็นได้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนบน
จากหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่มีการแชร์เป็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย รูปพรรณสัญฐานที่ปรากฏ และเวลาที่พบเห็นสอดคล้องกับลักษณะของชิ้นส่วนจรวดตอนบน (upper stage rocket) ของจรวด Long March 5B ที่ถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวด Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหหลำ ประเทศจีน ภายใต้ภารกิจ SatNet LEO Group 1
ลักษณะของแสงปริศนาดังกล่าว มีสีออกขาว มีจุดสว่างหนึ่งจุดพร้อมกับโคนที่ฟุ้งออกไปเป็นวงกว้าง ดูคล้ายกับภาพถ่ายดาวหาง แต่มีความสว่างกว่าเป็นอย่างมาก อีกทั้งวัตถุดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ โดยเคลื่อนที่ช้า ๆ เยื้องไปทางทิศเหนือ
จากรูปพรรณสัณฐานเช่นนี้ สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับวัตถุจำพวกชิ้นส่วนจรวดตอนบน (upper stage rocket) ที่ดับแล้ว โดยจะมีชิ้นส่วนของตัวถังเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์จรวด พร้อมกับแก๊สขับดันที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว เคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กัน
โดยในบางครั้งตัวจรวดอาจจะยังคงมีพลาสมาที่หลงเหลืออยู่ปล่อยออกมาบ้างเล็กน้อย และส่องสว่างเรือง ๆ เป็นสีฟ้าจาง ๆ แต่หากพบเห็นในช่วงหัวค่ำ อย่างในกรณีของเมื่อค่ำวันที่ 16 ธ.ค. 67 อาจจะสะท้อนแสงอาทิตย์ปรากฏเป็นสีขาว
ปกติแล้วจรวดที่ปล่อยออกจากพื้นโลกจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก เพื่อใช้ประโยชน์จากทิศทางการหมุนของโลกในการลดเชื้อเพลิง ดังนั้นจรวด Long March 5B ของจีนจึงไม่ได้ผ่านเหนือน่านฟ้าประเทศไทยโดยตรงระหว่างการขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภารกิจของจรวดนี้เป็นการส่งดาวเทียมเครือข่าย (constellation satellite) เพื่อภารกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลภายใต้เครือข่าย GuoWang ของจีน ซึ่งจะต้องอาศัยแรงขับดันหลักจากจรวดตอนบนในการเดินทางไปยังวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) ก่อนที่ดาวเทียมจะถูกปล่อยออกไป
ทำให้ภายหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจแล้ว ชิ้นส่วนจรวดตอนบน เชื้อเพลิงบางส่วนที่ถูกขับออกมา และพลาสมาที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาในภายหลัง ล้วนแล้วแต่จะเคลื่อนที่ต่อไปในวงโคจรต่ำของโลก ซึ่งใช้เวลาในการโคจรรอบโลกหนึ่งรอบ เพียงเวลาประมาณ 90-120 นาที
ซึ่งเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับเวลาที่พบเห็นทั้งจรวดและเชื้อเพลิงเหนือน่านฟ้าประเทศไทย หลังจากเวลาปล่อยจรวดออกจากฐานประมาณ 2 ชั่วโมงพอดี จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากชิ้นส่วนตอนบนของจรวด Long March 5B ของจีน
ซึ่งหลังจากที่จรวดและเชื้อเพลิงโคจรรอบโลกไปสักพักหนึ่ง แรงต้านจากชั้นบรรยากาศตอนบนของโลก จะทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าวค่อยๆ เคลื่อนที่ช้าลง จนไม่สามารถคงวงโคจรต่ำอีกต่อไปได้ ก่อนที่จะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศระหว่างที่ตกกลับลงมาภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลกไปในที่สุด