คอลัมนิสต์

แกะรอย 'ทอน' 'นายกฯ พระราชทาน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลือลั่นโซเชียล "นายกฯพระราชทาน" ทำไม "คณะก้าวหน้า" ชงเองกินเอง ในวันที่มีข่าว "ทักษิณกลับแน่" คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ในโซเชียลจุดกระแส “นายกฯคนนอก” (กรณีพิเศษ) ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.2564 ตามมาด้วยติดแฮชแท็ก “ไม่เอานายกฯพระราชทาน” ลามไปถึงกลุ่มการเมืองต้องออกแถลงการณ์ด่วน ต้านนายกฯคนนอก(ทุกกรณี)

 

ตกค่ำวันที่ 26 ก.ค.2564 มีข่าวแจกจากฝ่ายรัฐบาล อ้างแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า เรื่องนายกฯพระราชทาน หรือเปลี่ยนตัวนายกฯนั้น ไม่เป็นความจริง 100%

 

แถมยังบอกว่า “ภายใน 1 ปีครึ่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออกหรือยุบสภาแน่นอน โดยเฉพาะตอนนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กำลังวิกฤตหนัก ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะมีการเลือกตั้ง และหาเสียง”

 

แหล่งข่าวคนเดียวกันวิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น การให้ข้อเสนอแนะเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน และการแก้ไขปัญหาโควิดเท่านั้น แต่กลับมีการนำมาเต้าข่าวและสร้างเรื่อง เพื่อหวังให้เป็นประเด็นการเมือง

 

ใครเต้าข่าว? ใครปั่นกระแส? หาคำตอบได้ไม่ยาก หากเข้าไปส่องเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ของคนบางกลุ่ม ก็จะเห็นร่องรอย และได้คำตอบ

 

บางคนที่ใกล้ชิดแกนนำคณะก้าวหน้า ได้เล่นซีรีส์นายกฯพระราชทานผ่านเฟซบุ๊ค ราวกับว่า จะมีการแต่งตั้งนายกฯ คนนอก ในเร็ววันนี้ เพียงแค่เห็น ม.จ.จุลเจิม ยุคล ลุกขึ้นมา พร้อมวลี “สมแล้วที่คนไล่รัฐบาลกัน” ก็ตั้งวงวิเคราะห์ว่า มีสัญญาณพิเศษ เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

++

ก้าวหน้าผสมโรง

++

 

คณะก้าวหน้า ภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “บทเรียนนายกฯพระราชทาน ข้อเสนอที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย” สอดรับกระแสโซเชียล “ไม่เอานายกฯ พระราชทาน

 

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ชิ้นนั้น ได้อ้างถึงที่มาของกระแสนายกฯคนนอก “ท่ามกลางกระแส “ดีล” “ตกลง” “รอมชอม” “ประนีประนอม” “เกี้ยเซียะ” ฯลฯ ของคนบางกลุ่มบางพวกหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ คือปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องจากยุคดึกดำบรรพ์นี้ ฟื้นกลับมาจากข่าวลือและกระแสดังกล่าว”

 

คณะก้าวหน้า ยอมรับว่า นี่คือ “ข่าวลือ” แต่ก็ลงทุนเขียนแถลงการณ์ยาวเหยียด เหมือนตีปลาหน้าไซ แต่ฝ่ายตรงข้าม กลับมองว่า “ชงเอง กินเอง”

 

จริงๆแล้ว ในหมู่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ได้มีการพูดถึง “ดีลลับ” การประนีประนอมของกลุ่มชนชั้นนำกับกลุ่มทุนการเมืองมานานแล้ว ยิ่งมีข่าว “ทักษิณกลับบ้านแน่” ยิ่งทำให้พวกเขาสุมหัวคิดกันใหญ่ และหวาดระแวงในปีกพรรคเพื่อไทย และองคาพยพ “ชินวัตร”

 

ดังนั้น คณะนำของพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า จึงพยายามเน้นย้ำหลักการนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้แต่ “ทักษิณ” จะกลับมาเป็นนายกฯ ก็ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เหาะข้ามฟ้ามาจากดูไบไม่ได้

 

ในถ้อยแถลงของคณะก้าวหน้า จึงประกาศว่า ไม่เพียงแต่คัดค้าน “นายกฯพระราชทาน” หากแต่ “นายกฯคนนอก” ที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ คณะก้าวหน้าและม็อบสามนิ้วก็ไม่เอา

 

“ผมเชื่อว่าสายลมของการเปลี่ยนแปลงมาถึงประเทศไทยแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ปัญหาอยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ความต้องการการเปลี่ยนแปลง มันเกิดขึ้นแล้ว และมันกำลังท้าทายอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน-อำนาจจารีตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

 

แกะรอย 'ทอน'  'นายกฯ พระราชทาน'

นี่คือข้อความในทวิตเตอร์ของธนาธร เมื่อไม่นานมานี้ และสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมเขาจึงต้องปั้นกระแส “นายกฯพระราชทาน”

 

++

บทเรียน 2549

++

 

ธนาธร และคณะ ได้ยกบทเรียนการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในปี 2548-2549 ซึ่งเวลานั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ชูธงกู้ชาติ พร้อมสร้างวาทกรรม “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และเรียกร้อง “นายกรัฐมนตรี” มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาเป็นข้ออ้าง ว่ามีบัญญัติเรื่องนี้ไว้

 

“นายกฯ พระราชทาน จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การจุดเรื่องนี้ขึ้นมาในครั้งนั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อขับไล่ทักษิณและสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งในที่สุดก็ปูทางไปสู่จุดจบของระบอบประชาธิปไตยคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

 

ในวันนี้ ยังไม่มี “องค์กรใด” เสนอนายกฯพระราชทาน มีแต่ “กลุ่มทนายนกเขา” ชูธงรัฐบาลสร้างชาติ โดยกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

 

ทั้งหลายทั้งปวงการจุดกระแสนายกฯพระราชทาน เที่ยวนี้ของคณะก้าวหน้า ก็เป็นการเตะสกัด “การกลับมาของโทนี่” ด้วยความระแวงแคลงใจในเรื่อง “ดีลลับ” ที่เล่าลือกันนั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ