คอลัมนิสต์

ล้วงลึกม็อบ "หมอ" เคียงข้างเยาวชนลงถนนเรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ - โมเดอร์นา

18 ก.ค. 2564

ทวงวัคซีน "หมอ" ไม่ทน เคียงข้างเยาวชนลงถนน ไล่ประยุทธ์ เรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ - โมเดอร์นา

“ม็อบ 18 กรกฎา” ภายใต้การนำของกลุ่มเยาวชนปลดแอก รีเด็ม (REDEM) พร้อมกับการ์ดวีโว่ (Wevo) มาตามนัดหมาย บ่าย 2 วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 เคลื่อนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งไปทำเนียบรัฐบาล โดยขบวนม็อบยุคใหม่ มีทั้งคนและรถ

จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าวภาคสนาม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอย่างรุนแรง จึงทำให้คนส่วนใหญ่จะติดตามการเคลื่อนไหวอยู่ที่บ้าน

ช่วงใกล้ทุ่มหนึ่ง แกนนำเยาวชนปลดแอก ได้ประกาศยุติการชุมนุม เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม เพราะมีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนอย่างหนัก

มีข้อน่าสังเกต ม็อบ 18 กรกฎา ได้แถลงผ่านสื่อโซเชียล ประกอบด้วย 15 กลุ่ม โดยมีข้อเรียกร้องทางยุทธวิธี 3 ข้อ คือ

  1. พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข
  2. ปรับลดงบฯ สถาบัน - กองทัพ สู้โควิด
  3. เปลี่ยนวัคซีนหลักเป็นชนิด mRNA

 

ตัวละครระดับแกนนำใน 15 กลุ่มที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เป็น “คนหน้าเดิม” แต่เพิ่มเติมเข้ามา คือ “ภาคีบุคลากรสาธารณสุข” ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ - พยาบาล “ด่านหน้า” ที่ไม่ยอมทน และทนไม่ไหว จึงลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 แฟนเพจ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ได้แถลงว่า “ภาคีบุคลากรสาธารณสุขขอร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องในการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” พร้อมติดแฮชแท็ก #ม็อบ18กรกฎา #ต้องการmRNAvaccine #นำmRNAvaccineเข้ามาเป็นวัคซีนหลัก

ในวันที่ม็อบเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล แอดมินเพจภาคีบุคลากรสาธารณสุข เรียกร้องให้แพทย์ และพยาบาล ร่วมกันแสดงออก ทั้งการถ่ายรูปพร้อม #นำmRNAvaccineเข้ามาเป็นวัคซีนหลัก การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ การโพสต์ข้อความ ภาพ และวิดีโอ รวมถึงสมาชิกภาคีบุคลากรสาธารณสุขบางกลุ่มได้เข้าร่วมม็อบ 18 กรกฎา

 

หมอไม่ทน

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 กลุ่ม “หมอไม่ทน” และ “ภาคีบุคลากรสาธารณสุข” ได้ไปยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนแคมเปญให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนโควิดชนิด mRNA ให้กับบุคลากรการแพทย์ กว่า 200,000 รายชื่อ ต่อผู้เกี่ยวข้องที่รัฐสภา

วันนั้น นพ. สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุข ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชนครั้งแรก พร้อมอธิบายถึงเหตุผลที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐจัดสรรวัคซีนโควิดชนิด mRNA ให้กับบุคลากรการแพทย์

ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนเชื้อตายยี่ห้อซิโนแวค (Sinovac) ที่ภาครัฐจัดให้นั้น เป็นวัคซีนที่ยังไม่มีงานวิจัยถึงการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา มีแต่ป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิม

หลังการเข้าร่วมสนับสนุน “ม็อบ 18 กรกฎา” ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ได้ยกระดับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนำวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเป็นวัคซีนหลักของประเทศ

วัคซีนต้านโควิดชนิด mRNA มียี่ห้อใดบ้าง ?

  1. วัคซีนโควิด ไฟเซอร์ (Pfizer)
  2. วัคซีนโควิด โมเดอร์นา (Moderna)

 

จัดเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ดังนั้น ม็อบ 18 กรกฎา จึงชูคำขวัญทางยุทธวิธี “ขอวัคซีนที่ดีให้แก่ประชาชน” หรือพูดง่าย ๆ เอาซิโนแวคคืนไป เอาไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาคืนมา

 

วัคซีนเพื่อประชาชน

แม้ ม็อบ 18 กรกฎา จะเคลื่อนไปไม่ถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ภาคีบุคลากรสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์อีกครั้ง “ถึงเวลาที่รัฐบาลควรทบทวนการทำงานอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไปนั่นหมายถึงชีวิตของประชาชน..”

ทางออกของวิกฤตินี้ คือ การเร่งนำวัคซีน mRNA เข้ามาเป็นวัคซีนหลัก และเปิดเผยขั้นตอนการทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา

“หมอรุ่นใหม่” มองว่า รัฐบาลบริหารงานที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น คือ รัฐไม่รู้จักบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการแทงม้าตัวเดียวหรือการไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์

ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องไม่ตัดสินใจผิดพลาดเป็นครั้งที่สอง ต้องรีบจัดหาวัคซีนที่ดีมาให้ประชาชน และบุคลากรด่านหน้า

 

โควิด-19, วัคซีนเพื่อประชาชน, เยาวชนปลดแอก, ม็อบ 18 กรกฎา, หมอ, หมอไม่ทน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง