คอลัมนิสต์

เสาไฟ "ราชาเทวะ" 'บ้านใหญ่' โมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสาไฟกินรี "อบต.ราชาเทวะ" ยังเดินหน้าต่อ เพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นอุปถัมภ์ คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
สำนักข่าวหลายแห่ง เกาะติดประเด็น “เสาไฟฟ้า” รูปประติมากรรมต่างๆ กับความโปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อยู่ที่ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... ต้นละแสน แพงตรงไหน...เปิดใจ บ.ร่วมประมูลเสาไฟกินรี

 

 

เสาไฟ "ราชาเทวะ" 'บ้านใหญ่' โมเดล

ทรงชัย และลูกชาย จาตุรนต์ ตรวจโครงการเสาไฟกินรี
    

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 สภา อบต.ราชาเทวะ อนุมัติจ่ายงบสะสม 68.4 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเสาไฟกินรีเพิ่มอีก 720 ต้น โดยมีผู้เห็นชอบ 15 คน ไม่เห็นชอบ 5 คน และงดออกเสียง 4 คน
    

ข่าวท้องถิ่นชิ้นนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย คล้ายกับว่า สภา อบต.ราชาเทวะ ไม่ฟังกระแสสังคม ไม่อนาทรร้อนใจใดๆเลย
    

ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ชี้แจงว่า การติดตั้งเสาไฟกินรี 720 ต้น จะไม่ซ้ำจุดเดิม บางจุดไม่มีเสาเลยสักต้น เลยมาขอให้บรรจุเสาไฟกินรีในแผน เพื่อขอสภาใช้เงิน
    

“ความต้องการของประชาชน กับเสียงคัดค้านที่เยอะอยู่แล้ว ความต้องการของประชาชนในตำบลนี้มันมากกว่าเสียงคัดค้านที่อื่น คนที่คัดค้านไม่ได้อยู่ในตำบลนี้ ถ้าคนตำบลนี้คัดค้านไม่มีทางที่โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ โครงการมาจากความต้องการของคนในพื้นที่ ที่เขาต้องการจะมีเสาไฟกินรี”
    

นายก อบต.ราชาเทวะ กล่าวเสริมว่า ต.ราชาเทวะ มี 15 หมู่บ้าน โดยเสาไฟกินรี 720 ต้น จะกระจายไป 11 หมู่บ้าน และมี 4 หมู่บ้านที่ไม่เอา
    

ภาพสะท้อนจาก อบต.ราชาเทวะ ก็เหมือนเป็นตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังเป็นวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นอุปถัมภ์ หรือเรียกกันง่ายๆว่า “การเมืองบ้านใหญ่” 
    

การเมืองบ้านใหญ่ จะเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขชาวบ้านเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เรียกว่าดูแลตั้งแต่เกิดไปจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นจึงไม่ใส่ใจเสียงสะท้อนจากนอกพื้นที่ 

 

เสาไฟ "ราชาเทวะ" 'บ้านใหญ่' โมเดล

เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ใน ต.ราชาเทวะ

 


++
ตำนานเสาไฟกินรี
++
เมื่อไม่นานมานี้ ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า รายได้ของ อบต.ราชาเทวะ มีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 200 ล้าน ถูกแบ่งสำหรับพัฒนาพื้นที่ 
    

ในแต่ละปีจะมีคณะกรรมการจัดทำแผน ไปลงพื้นที่ทำประชามติของชาวบ้าน ว่ามีความต้องการพัฒนาด้านใด โดยชาวบ้านเสนอมา 2 เรื่องคือ ถนนคอนกรีต กับเสาไฟฟ้า แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงทำเสาไฟฟ้าก่อน
    

3 เดือนที่ผ่านมา ปปช.จังหวัดและภาค เคยเรียกนายกฯทรงชัย ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเสาไฟกินรี ซึ่งตนก็ชี้แจงทุกอย่าง มีความโปร่งใส มีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน 
    

จากความต้องการของชาวบ้าน ก็นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแผนของโครงการ มีการออกแบบเสาไฟฟ้า และเสนอมาที่ นายก อบต. ซึ่งราคากลางของเสาไฟกินรี อยู่ที่ต้นละ 95,000 บาท ส่วนบริษัทที่ได้จัดทำก็มาจากการ e-bidding อบต.ไม่เคยปิดกั้นบริษัทไหน ก็เปิดให้มาแข่งขันกัน แต่ถามว่า ทำไมบริษัทนี้ได้อยู่รายเดียว ตนไม่ทราบ เพราะเขาไปแข่งขันกันเอง
    

ทำไมต้องเป็นเสาไฟกินรี นายกฯทรงชัย ตอบว่า อยากปรับภูมิทัศน์ ต.ราชาเทวะ ให้สอดคล้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ แขกบ้านแขกเมืองมา เขาจะชื่นชมประเทศไทย
    

อย่างที่รู้กัน อบต.ราชาเทวะ จัดเป็น อบต.มีลักษณะพิเศษ เพราะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เกือบครึ่งหนึ่งอยู่เขตการปกครองของ อบต.ราชาเทวะ

เสาไฟ "ราชาเทวะ" 'บ้านใหญ่' โมเดล

เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ใน ต.ราชาเทวะ

 

++
ตำนานบ่อขยะ
++
เกือบ 20 ปีที่แล้ว ต.ราชาเทวะ ตกเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั้งประเทศ กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เรื่องบ่อฝังกลบขยะ 200 ไร่ ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลรบกวนชาวบ้านหมู่ 14 ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 
    

สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานคร ได้ว่าจ้างภาคเอกชนให้ขนย้ายและกำจัดทำลายขยะมูลฝอยจากโรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ตั้งแต่ ก.ค.2543-ก.ค.2547 วงเงิน 780 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องฝังกลบขยะวันต่อวันไม่ให้มีขยะเหลือตกค้าง และต้องใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นเพื่อขจัดกลิ่น 
    

แต่ข้อเท็จจริงกลับมีกลิ่นและฝูงแมลงวันคุกคามผู้อาศัยกว่า 2,000 คนที่อยู่ใกล้เคียง จนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และพบความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าวหลายประเด็น 
    

ความขัดแย้งในพื้นที่รุนแรงขึ้น เมื่อเกิดเหตุลอบยิงแกนนำชาวบ้านเสียชีวิตในร้านขายของชำ เมื่อ 26 มิ.ย.2544 เวลาต่อมา ตำรวจได้จับกุมนักการเมืองท้องถิ่น ในข้อหาจ้างวานฆ่า และมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว
    

ปัจจุบัน ภาคเอกชนได้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นขยะ และดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซในหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ฝังกลบ 50 ไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกกะวัตต์ ส่งจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้านครหลวง ตั้งแต่ปี 2549
    

ปีนั้น ทรงชัย นกขมิ้น ดำรงตำแหน่งประธานสภา อบต.ราชาเทวะ และในปีนี้ ทรงชัย เป็นนายก อบต.ราชาเทวะ ก็โด่งดังจากข่าวเสาไฟกินรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ