คอลัมนิสต์

'โควิด'ระลอก 3 ซ้ำเติม"หนี้ครัวเรือน" รอวัดฝีมือ"รบ.ประยุทธ์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะทำงานที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและ รมว.พลังงานร่วมด้วย กำลังหาทางแก้ไขปัญหา"หนี้สิน"ของประชาชนกลุ่มต่างๆที่มีบานเบอะและสารพัดรูปแบบ...ต้องเกาะติดการแก้ปัญหาของ"รัฐบาล"ว่าจะได้ผลและมีรูปธรรมอย่างไร

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Prayut Chan-o-cha ว่า ได้ประชุมร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

นายกฯบอกว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กัน คือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน โดยมาตรการมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

มาตรการระยะสั้น ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์,ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO, ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

การยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์,ธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนและกำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือสหกรณ์สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร

พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs เช่น จัดให้มี softloan สำหรับ SME ที่เป็น NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง

สำหรับมาตรการระยะยาว คือการทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและมีการคุมยอดวงเงินกู้ที่เหมาะสม เช่น รัฐต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพิ่มระบบให้ผู้ฝากเงินมาเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย

การหารือในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาหามาตรการเพื่อดำเนินการเพื่อให้เกิดกระบวนการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น มี คณะทำงานแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ(ศบศ.)โดยให้รองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ฯ รับผิดชอบต่อไป

โควิด-19 ระลอก 3 ซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน สัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึงร้อยละ 89.3 สูงสุดในรอบ 18 ปี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาก มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง ร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าเป็นระดับตํ่าสุดของวิกฤติครั้งนี้

สิ้นปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือน พบว่ามีมูลหนี้รวม 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ ร้อยละ 89.3 สูงสุดในรอบ 18 ปี

ส่วนแนวโน้มในปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" เคยคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ ร้อยละ 89.0-91.0 ต่อจีดีพี

สวนดุสิตโพล เผยปัญหาครอบครัวไทยในยุคโควิด-19 พบมีปัญหา"หนี้สิน"มากสุด

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,184 คน ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม 2564 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นจากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รายจ่ายเพิ่ม รายได้ลด เกิดความเครียด วิตกกังวลจนนำไปสู่การกระทบกระทั่งและปัญหาอื่นๆในครอบครัว สรุปผลได้ดังนี้

1. ในยุคโควิด-19 ปัญหาครอบครัวในภาพรวมที่พบเห็นมากขึ้น คือ
อันดับ 1 มีปัญหาหนี้สิน 75.41%

อันดับ 2 คนในครอบครัวตกงาน/ว่างงาน 69.96%

อันดับ 3 ความเครียด/โรคซึมเศร้า 67.19%

อันดับ 4 การทะเลาะเบาะแว้ง 36.02%

อันดับ 5 การเลิกรากัน/หย่าร้าง 30.30%

2. ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับครอบครัว คือ

อันดับ 1 รายรับไม่พอกับรายจ่าย /รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 44.27%

นักวิจัยสวนดุสิตโพล"พรพรรณ บัวทอง" บอกว่า ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ปัญหาครอบครัวไทยก็ยังเป็นเรื่องปากท้อง รายได้ หนี้สิน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเรื่องเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาหลักของคนไทย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมองเห็นปัญหาระดับจุลภาคนี้หรือไม่และจะมีแนวทางในการแก้ไขทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือนอย่างไร เพราะครอบครัวนั้นเป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคม ถ้าทุกครอบครัวอยู่ดีมีเงินใช้ก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมคุณภาพชีวิตของคนไทยนั้นดีมีความสุขนั่นเอง

ขณะที่คณบดีโรงเรียนท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต"ผศ.ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์"บอกว่า จากผลสำรวจพบว่าผลกระทบเชิงลบหลักที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเศรษฐกิจ คือ ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาและเกิดสภาวะความเครียด

ปัญหาเรื่องหนี้สิน เรื่องปากท้องประชาชน ต้องถือว่าเป็น"งานหิน" สำหรับ"รัฐบาลประยุทธ์"

จับตาดูกันต่อไปว่า"คณะทำงาน"ที่ตั้งขึ้นภายใต้"ศบศ."และมีขุนพลคนสำคัญ"สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" เป็นตัวจักรในการขับเคลื่อน จะมีแรงฝ่าฝันได้สำเร็จลุล่วงแค่ไหน 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ