คอลัมนิสต์

อัปเดต "วัคซีน ทั้ง 7" ที่ไทยเลือกใช้ ไปถึงไหนกันแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลุ้น เป้าหมายฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้จะสำเร็จหรือไม่ กับการอัปเดต วัคซีนทั้ง 7 ยี่ห้อ ที่ไทยเลือกใช้

เป้าหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ 150 ล้านโดส แบ่งเป็น ในปี 2564 จัดหาให้ได้ 100 ล้านโดส เดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนครอบคลุม 50 ล้านคน หรือ 70 % ของประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี2564นี้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าท้ายที่สุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตัวเลขจะออกมาเท่าไหร่ ส่วนอีก 50 ล้านโดส จะเป็นการจัดหาในปี 2565

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็กด่วน รพ.เอกชน เคาะราคากลาง ฉีดวัคซีน 'โมเดอร์นา' แล้ว

เช็กความเคลื่อนไหวของ “วัคซีน 7 ยี่ห้อ” ที่ประเทศไทยใช้ ซึ่งเป็นข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2564 มีดังนี้

เริ่มที่ “แอสตร้าเซนเนก้า” วัคซีนหลักของประเทศ ที่มีจำนวนมากที่สุด แอสตร้าเซนเนก้า ทำสัญญากับรัฐบาลไทยเรียบร้อย ว่ามีการจัดหาวัคซีนยี่ห้อนี้ 61 ล้านโดส

วันที่ 2 มิ.ย. 2564 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนให้กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมอบวัคซีนล็อตแรก จำนวน 1.8 ล้านโดส ให้กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จากนั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2564 บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข มีพิธีรับอย่างเป็นทางการ

ต่อกันที่ “ซิโนแวค” ที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนกับไทย มีการส่งมอบวัคซีนให้กันแล้วรวมจำนวน 6 ล้านโดส ขณะที่เดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 วัคซีนจากซิโนแวค จากประเทศจีนจะทยอยเข้ามาไทยอีกรวม 11 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสในปี2564นี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 มีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค 3.54 ล้านโดส และจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ทยอยส่งมอบให้สัปดาห์ที่ 3 และ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนนี้ อีก 3.42 ล้านโดส ทำให้ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ประมาณ 10 ล้านโดส

ขณะที่ วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งคิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อ ไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) อยู่ในขั้นตอนระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญา จัดหา 20 ล้านโดส ซึ่งนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ โดยตามแผนคาดว่า ไฟเซอร์จะเริ่มนำเข้ามาไทย ในช่วงไตรมาส ที่ 3 ของปีนี้ (เดือนมิถุนายน - สิงหาคม)

ไล่ๆ กันมา คือ วัคซีนยี่ห้อ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญาเช่นเดียวกันกับไฟเซอร์ ตามแผนจัดหาจำนวน 5 ล้านโดส คาดว่าได้ลงนามจองซื้อต่อจากไฟเซอร์ และเริ่มได้รับในช่วงปลายปี หรือ ไตรมาส 4 ปีนี้ (เดือนกันยายน-พฤศจิกายน)

ส่วนอีก 3 ยี่ห้อ คือโมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม และสปุ๊กนิต วี อยู่ระหว่างดำเนินการ

“โมเดอร์นา” คือ วัคซีนทางเลือก ตัวแรกที่โรงพยาบาลเอกชนสามารถสั่งมาฉีดให้ลูกค้าได้ คาดว่า โมเดอร์นาจะเข้าไทยมาล็อตแรกในเดือนตุลาคม ปีนี้ประมาณ 4 ล้านโดส ส่วนราคาในการฉีดนั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยืนยันจะเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ ล่าสุดเคาะว่าเข็มละ 1,900 บาท

อีกยี่ห้อที่ได้รับความสนใจจากคนไทยมาก คือ “ซิโนฟาร์ม” เป็น “วัคซีนทางเลือก” อีกตัว ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้จัดหา คาดราคาถูกกว่าโมเดอร์นาว่า ซึ่งภายในเดือนมิถุนายน 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คาดว่าจะได้รับวัคซีนจากปักกิ่งจำนวน 1 ล้านโดส ย้ำวัคซีนนี้ไม่ใช่วัคซีนฟรีที่รัฐบาลฉีดให้ประชาชน มีแผนกระจายวัคซีนให้กับกลุ่มติดต่อจองซื้อกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เท่านั้น

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 วัคซีน “สปุ๊กนิต วี” ถูกพูดถึงมากอีกยี่ห้อ หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน ยินดีสนับสนุนไทยในการจองซื้อวัคซีนยี่ห้อ โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่ค่อยมีรายละเอียดและได้รับการพูดถึงมากนัก

นี่เป็นภาพรวมของวัคซีนแต่ละยี่ห้อที่ประเทศไทยเลือกใช้ เพื่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 การฉีดวัคซีนได้เร็ว และครอบคลุมจะช่วยลดการสูญเสีย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศให้กลับมาโดยเร็ว หลังจากทุกอย่างชะงักจะครบ 2 ปีแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ