คอลัมนิสต์

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุทธศาสตร์โลกล้อมพม่า "ซูจี" ตั้งรัฐบาลเงาชิงความชอบธรรม "มินอ่องหล่าย" ผูกมิตรนักรบชาติพันธุ์ ใต้ร่มธงจีน

เป็นไปตามความคาดหมาย พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ที่รวมตัวกันในนามคณะกรรมการสภาสหภาพ (CRPH) เดินหน้ายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ชิงความชอบธรรมในประชาคมโลกกับรัฐบาลทหารเมียนมา หรือสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ด้วยการประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government-NUG) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกอบด้วย ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) และตัวแทนจากองค์กรทางการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชิน และคะฉิ่น

โครงสร้างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) มี วิน มยินต์ ประธานาธิบดี ,อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ , ดูว่า ละฉี รองประธานาธิบดี(ผู้นำการเมืองคะฉิ่น) และ มานวินตานข่าย (ผู้นำการเมืองกะเหรี่ยง) นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ มี ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐมนตรี 

โฆษก NUG ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมียนมาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ขณะนี้มีหลายประเทศในโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงอาหรับสปริง เตรียมประกาศให้การรับรองรัฐบาลเงา (NUG) ในฐานะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของเมียนมา

มินโกหน่าย ผู้นำนักศึกษาพม่า ยุค 1988 ประกาศผ่านคลิปวิดีโอไลฟ์บนเว็บไซต์พับลิค วอยซ์ ทีวี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้การต้อน “รัฐบาลของประชาชน” และ “เรากำลังดำเนินความพยายามเพื่อขุดรากถอนโคนระบอบการปกครองของทหาร ดังนั้น เราจำเป็นต้องเสียสละมหาศาล” 

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

                                  รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จีนเอาไง พม่าถล่ม 'คะฉิ่น'

++
ไม่มีกองทัพ
++

วันเดียวกันกับที่มีการประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) พล.ต.ทุนเมี๊ยตไหน่ ผู้นำสูงสุดของสหสันนิบาติแห่งชาวอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ของเขาว่า ตัวเขา และกองทัพอาระกัน ไม่สามารถเข้าร่วมกับ NUG ตามคำเชิญของ CRPH ได้ 

ปฏิกิริยาจากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่อ NUG ค่อนข้างเงียบเชียบ ยกเว้นแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) ที่ออกแถลงการณ์ต้อนรับรัฐบาลของประชาชน

ก่อนหน้านี้ CRPH ได้พูดคุยกับผู้นำชาติพันธุ์บางกลุ่มเรื่อง "กองทัพสหพันธรัฐ" และมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ต่างเรียกหากองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งช่วงนี้ จะมีการเขียนป้ายคำขวัญเรียกหากองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มากเป็นพิเศษ

วันที่ 3 เม.ย.2564 พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์กับ 9 ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา 

การประชุมครั้งนี้ ตัวแทน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ร่วมการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ (Spring Revulation) 

การขยับตัวของ “เจ้ายอดศึก” ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกองทัพสหพันธรัฐ หลายฝ่ายเชื่อว่า ผู้นำชาติพันธุ์ติดอาวุธ กำลังเฝ้าดูบทบาทมหาอำนาจตะวันตกกับรัฐบาลเงาของซูจีอยู่

พวกเขาไม่ผลีผลามกระโจนสู่สมรภูมิรบ โดยไม่มีหลักประกันแห่งชัยชนะ

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

                กองทัพสหรัฐว้า ยังสงบนิ่งแต่ใกล้ชิดกองทัพพม่า

++
กำปั้นเหล็ก
++

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ยังคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงไว้ได้ แม้ในทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ จะตกเป็นรอง

กองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ทั้งสู้รบสลับกับการพูดคุยกันมานานกว่า 3 ทศวรรษ นายทหารเมียนมาถนัดในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 

วันที่ 8 เม.ย.2564 สภาบริหารภาครัฐ (SAC) จึงส่งคณะนายทหารฝ่ายพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินทางไปยังบ้านไฮ เขตเมืองเกซี แขวงล๋อยแหลม รัฐฉานตอนใต้ เพื่อเข้าพบและหารือกับผู้นำระดับสูงของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) 

พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพไทใหญ่เหนือ นำโดย ป่างฟ้า เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และได้แยกตัวออกมาตั้งกองกำลังของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
 3-4 ปีมานี้ ทหารของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) ได้ทำการสู้รบกับทหารของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) อยู่เป็นประจำ จนชาวบ้านในรัฐฉานเรียกว่า สงครามไทใหญ่ และไม่ค่อยพอใจที่ทหารไทใหญ่ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้รบกันเอง

แม้แต่ในเวลานี้ ทหารไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) ยังเปิดศึกโจมตีทหารใหญ่ใต้(RCSS/SSA) ของเจ้ายอดศึก ในพื้นที่แขวงจ้อกแม แขวงสีป้อ รัฐฉานตอนเหนือ

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ยังรู้สึกมั่นใจว่า คุมสถานการณ์ในประเทศได้ และไม่คิดว่า กองทัพสหพันธรัฐ จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจต่อรองสูงคือ พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า(UWSP/UWSA) ซึ่งมีกำลังพล 30,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ยังสงบนิ่ง และไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการรัฐประหาร

ที่สำคัญ ประชากรในเขตปกครองพิเศษชนชาติว้า ไม่ได้จัดการชุมนุมประท้วง และพวกเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา

เหนืออื่นใด กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) และกองทัพไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ เพราะในอดีต พวกเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ของออง ซานซูจี ก็หวังที่จะเห็นการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เป็น “กองทัพสหพันธรัฐ” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ตราบใดที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธภาคเหนือยังพึ่งพาจีน กองทัพสหพันธรัฐก็ยังไกลเกินฝัน

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

                          มินอ่องหล่าย ยังคุมสถานการณ์ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ