คอลัมนิสต์

ไฟแค้น "นักศึกษาพม่า" เข้าป่าจับปืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตายสิบเกิดแสน ไฟแค้นลุกโชน คนหนุ่มสาวมุ่งหน้าสู่ป่าเขา ซ้ำรอยกองทัพนักศึกษาพม่า ABSDF 


++
นักวิชาการไทยหลายสำนัก ฟันธงตรงกันว่า ยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาล่วงเลยไปนานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการโหมไฟความขัดแย้ง ให้กลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ดังเช่นในซีเรียหรือเยเมน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...  ส่องเมียนมา วัดใจ "20 กองกำลัง" สู่สงครามประชาชน

ไฟแค้น "นักศึกษาพม่า" เข้าป่าจับปืน

พล.ท.บ่อจอแฮ ผู้นำ KNLA
    

ล่าสุด ตำรวจ-ทหารกราดยิงประชาชนไม่เลือกหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 80 คน ในยุทธการสลายป้อมค่ายผู้ประท้วงที่เมืองพะโค และยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามด้วยความรุนแรงเพิ่มสูงกว่า 700 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564
    

ด้านหนึ่ง นักศึกษาเมียนมายังฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการผู้แทนสหภาพ (CRPH) หรือรัฐบาลคู่ขนานเมียนมา ในการเจรจากับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ เพื่อจัดตั้ง “กองทัพสหพันธรัฐ” เปิดการสู้รบกับกองทัพเมียนมาอย่างเต็มรูปแบบ 
    

ขณะเดียวกัน สงครามหน้าแล้ง ระหว่างกองทัพเมียนมา กับกองกำลังชาติพันธุ์ ยังดำเนินไปอย่างดุเดือดในพื้นที่รัฐคะฉิ่น, รัฐฉานตอนเหนือ และรัฐกะเหรี่ยง


++
เข้าป่าจับปืน
++
ปลายเดือน มี.ค.2564 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงชาวเมียนมาจำนวนหนึ่ง มีแนวคิดที่จะเข้าร่วมกองกำลังชาติพันธุ์บริเวณชายแดนเมียนมา-จีน และเมียนมา-ไทย เพื่อจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพเมียนมา ที่กวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงอย่างโหดร้าย
    

ไฟแค้น "นักศึกษาพม่า" เข้าป่าจับปืน

กองทัพนักศึกษาพม่า ABSDF

 

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 นักข่าว Myanmar Now ได้สัมภาษณ์ พล.ท.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army - KNLA) เกี่ยวกับสถานการณ์การปราบปรามประชาชนของกองทัพเมียนมา และตอนหนึ่ง นายทหารกะเหรี่ยงกล่าวต้อนรับคนหนุ่มสาวเข้าร่วมการปฏิวัติ
    

“พวกเราสนับสนุนการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิของชาวเมียนมา ยินดีต้อนรับเยาวชนชายและหญิงที่ออกไปตามท้องถนนให้มาร่วมการปฏิวัติอย่างกล้าหาญ ในส่วนของเรา ก็จะทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อมีส่วนร่วมในการกำจัดเผด็จการทหาร” 
    

เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทหารปราบปรามนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวเมียนมา เมื่อ 8 ส.ค.1988 (พ.ศ.2531) กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ต้อนรับนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่หนีภัยเผด็จการมาจากเมืองหลวง

++
บทเรียน ABSDF 
++
หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นักศึกษาเมียนมาที่แตกพ่ายจากการล้อมปราบในเหตุการณ์ 8-8-88 ได้มุ่งหน้าสู่ป่าเขา เพื่อก่อการจับอาวุธต่อต้านเผด็จการทหาร
    

พวกเขาได้เข้าไปลี้ภัยอยู่แถบชายแดนไทยและจีน ด้วยการสนับสนุนจากกองกำลังชาติพันธุ์ จึงได้จัดตั้งองค์กร “แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า” (The All Burma Students’ Democratic Front : ABSDF) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพนักศึกษาพม่า” ไม่มีพื้นที่ปกครองของตนเอง แต่เคลื่อนไหวและตั้งฐานทัพอยู่ในหลายรัฐเช่น รัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐฉาน รัฐชินและรัฐคะฉิ่น
    

ที่มั่นหลักของกองทัพนักศึกษาพม่า ABSDF จะอยู่ในรัฐคะฉิ่น และรัฐกะเหรี่ยง ทหารกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และทหารสหภาพแห่งกะเหรี่ยง (KNU) ได้ให้การฝึกติดอาวุธให้แก่นักศึกษา โดยมุ่งหวังให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะล้มระบอบเผด็จการทหาร
    

ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) ก็ร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของพวกเขา ในการสร้างประเทศที่ปกครองแบบสหพันธรัฐ
    

จริงๆแล้ว การต่อสู้ของกองทัพนักศึกษาพม่า ABSDF ก็ไม่ราบรื่นไปเสียทั้งหมด ประกอบมีความขัดแย้งทางความคิด จึงทำให้องค์กร ABSDF หดแคบลง และช่วงหนึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย
    

ปัจจุบัน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF เป็น 1 ใน 10 กลุ่มที่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA)กับรัฐบาลพม่า สมัยรัฐบาลเต็งเส่ง เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558
    

น่าเสียดาย ในการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวเมียนมา หรือคนรุ่น Gen Z ไม่มีใครพูดถึงกองทัพนักศึกษาพม่า เนื่องจากองค์กร ABSDF มีขนาดเล็กเกินไป
    

กลุ่มผู้ประท้วงจึงเพรียกหากองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มากกว่า
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ