คอลัมนิสต์

2 ศาล เห็นพ้อง"ยิ่งลักษณ์ "ไม่ผิด "จำนำข้าว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มีการมองว่าคำพิพากษาศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งคลังเรียกค่าเสียหาย"ยิ่งลักษณ์"กว่า 3.5 หมื่นล้าน แย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จำคุก 5 ปีแต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะที่ศาลฎีกาฯชี้ว่า"ยิ่งลักษณ์"ผิด คือ"จีทูจี" ส่วน"จำนำข้าว"ไม่ผิด

พาดหัวรายงานข้างต้นไม่ได้เชียร์ “ยิ่งลักษณ์”

แต่มีที่มาจากการศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองกลางและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอยากนำมาเสนอต่อสาธารณชนให้รับทราบ

 

กรณีศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ 

สืบเนื่องจากกระทรวงการคลังกล่าวหาว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ปล่อยให้มีการทุจริตใน"โครงการรับจำนำข้าว"และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่

ซึ่งต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับพวกต่อศาลปกครองกลาง และขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย ระบุดังนี้ 

 1.การดำเนิน“โครงการรับจำนำข้าว” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ลำพัง  น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไม่มีอำนาจยับยั้ง“โครงการรับจำนำข้าว”ได้

2. น.ส. ยิ่งลักษณ์  มีอำนาจหน้าที่เพียงการกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการ  ไม่อาจรับรู้รับทราบการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ 

 3.เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง, มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิด ควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วม“โครงการรับจำนำข้าว” จึงถือได้ว่าอดีตนายกฯ “มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายใน“โครงการรับจำนำข้าว”แล้ว

 4.ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด

นอกจากนี้ศาลปกครองยังให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศที่ยึดและอายัดทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ออกขายทอดตลาด

เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองกลางออกมาเช่นนี้ ดูผิวเผินอาจมองว่าย้อนแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ให้จำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ 5 ปี

แต่ที่จริงแล้วไม่ได้ย้อนแย้งกัน แต่คำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นพ้องตรงกันด้วยซ้ำไป

เพราะว่าคดีอาญาที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มี 2 เรื่อง คือ

1. เรื่องโครงการรับจำนำข้าว

2 เรื่องระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ“จีทูจี” 

 ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในส่วนที่เกี่ยวกับ“โครงการรับจำนำข้าว” ก็ระบุชัดว่า น.ส. ่ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้กระทำผิด ดังนี้

"ในการดำเนิน “โครงการรับจำนำข้าว” แม้จะพบความเสียหายหลายประการ เช่น การสวมสิทธิการรับจำนำ  การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ ข้าวสูญหาย  การออกใบประทวนเป็นเท็จ, การใช้เอกสารปลอม,การโกงความชื้นและน้ำหนักเพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา ข้าวสูญหายจากโกดัง ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวเน่า ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานกระทวงพาณิชย์ 

ทั้งหมดนี้ เป็นความเสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อป้องกันความเสียหายไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ และเมื่อพบความเสียหายดังกล่าว ในขณะดำเนินโครงการก็ได้ทำการปรับปรุง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นระยะๆเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว กรณีความเสียหายในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ"

ย้ำว่า..ในเรื่องที่กระทรวงการคลังเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ“โครงการรับจำนำข้าว”เท่านั้น เห็นได้จากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง  ระบุถึงแต่เรื่องความเสียหายที่เกิดจาก“โครงการรับจำนำข้าว" ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์  โดยไม่มีข้อความตรงไหนในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ระบุถึงเรื่อง“การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ “หรือ”จีทูจี”เลย   

และหากมองย้อนไป “เรื่องระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ “จีทูจี”ไม่ได้มีการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ต้น ในชั้น ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ“โครงการรับจำนำข้าว”  ป.ป.ช. ไม่เคยไต่สวนหรือสอบ “ยิ่งลักษณ์ ”เกี่ยวกับเรื่องระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ “จีทูจี” เลย

ข้อกล่าวหาทุจริต“ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ“ หรือ”จีทูจี ”ต่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว

โดยตอนแรกอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีแต่เรื่อง“โครงการรับจำนำข้าว”เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น  เพิ่งมาเพิ่มเรื่อง“ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” หรือ “จีทูจี”  เข้าไปในสำนวนคดีภายหลังในชั้นศาลหลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายบุญทรงกับพวกเกี่ยวกับการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี จึงมีการแตกประเด็นโยงมาถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย

เช่นเดียวกับ "คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง" ของกระทรวงการคลัง ที่ตั้งขึ้น ก็สอบและสั่งให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ความความเสียหายอันเกิดจาก"โครงการรับจำนำข้าว"เท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า คณะกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้น เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณี“โครงการรับจำนำข้าว” คือตัวเลขค่าความเสียหายซึ่งสูงถึงกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท 

ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกรณีนายบุญทรงกับพวกฟ้องเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้นายบุญทรงกับพวกชดใช้(นายบุญทรงกับพวกแพ้คดี ) ต้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือ “จีทูจี”เป็นหลักพัน-2 พันล้านบาท

ดังนั้นหากกรณี “ยิ่งลักษณ์”เป็นเรื่องเรียกค่าเสียหายจากการขายข้าว “จีทูจี ” ตัวเลขค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ก็ต้องใกล้เคียงกับนายบุญทรงกับพวกคือหลักพัน-2 พันล้านบาท หรือต้องน้อยกว่า เพราะนายบุญทรงกับพวก เกี่ยวข้องกับสัญญาขายข้าวจีทูจีโดยตรงเป็น“ต้นธาร” แต่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ อยู่ห่างออกมา 

ดังนั้นด้วยเหตุฉะนี้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ผิดใน“โครงการรับจำนำข้าว” จึงสอดคล้องตรงกัน

ส่วนที่มีการพูดถึงว่า ทำไมไม่นำคลิปที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เห็น“เอ็มโอยู” ซึ่งที่จริงแล้วคือสัญญาขายข้าว“ จีทูจี” นำเสนอต่อศาลปกครองกลางในคดีที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์  ฟ้องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า  3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจมีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองกลางเปลี่ยนแปลงไปนั้น

ที่จริงเป็นคนละเรื่องกัน เพราะคลิปดังกล่าว เป็นการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ “การระบายข้าวแบบต่อรัฐต่อรัฐ” หรือ “จีทูจี” แต่เรื่องที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองกลาง คือ การเรียกค่าเสียหาย น.ส. ยิ่งลักษณ์ เกี่ยวกับ“โครงการรับจำนำข้าว”เท่านั้น

แต่ที่ "ยิ่งลักษณ์"ผิด คือในส่วนของทุจริต“ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ”หรือ“จีทูจี” ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำผิด  โดยระบุในคำพิพากษาว่า

1.การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อนำข้าวมาเวียนขายให้แก่ผู้ค้าข้าวภายในประเทศ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต

2.ในเรื่องนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจให้จำเลยทราบรายละเอียดและวิธีการขายที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของการขายแบบรัฐต่อรัฐ

3. ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้นายบุญทรง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ  แต่คณะกรรมการล้วนแต่เป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์  และทำการตรวจสอบไม่ตรงตามประเด็นที่อภิปราย แสดงว่าไม่ตั้งใจสอบอย่างจริงจัง

4. ตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ (จำเลย ) ทราบว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญา อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำของจำเลย(น.ส.ยิ่งลักษณ์ ) จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 123/1ลงโทษจำคุก 5 ปี 

ดังนั้นคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้กระทำผิดในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว จึงไม่มีผลใดๆต่อคำพิพากษาในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์  5 ปี เพราะเป็นเรื่องของการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในเรื่อง “การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ”หรือ“จีทูจี” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่อง“จำนำข้าว

ประเด็นต่อมา หากต่อไปศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดไปก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้กรมบังคับคดี เคยออกเอกสารเผยแพร่ข่าวการดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์  ณ วันที่ 17 ธ.ค. 62  ว่า...

กรณี “คดีจำนำข้าว”  ได้ดำเนินการยึดทรัพย์สินของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้เกือบ 200 ล้านบาท

โดยมีรายละเอียดคือ อายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่าง ๆ ได้เงินจำนวน 7,93 ล้านบาทและส่งเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว 

นอกจากนี้ยึดที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดอีกหลายรายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินเป็นเงิน 199,230,779.50 บาท 

กรมบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินได้แล้ว 3 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49.51 ล้านบาท และทรัพย์สินรายการที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของการประกาศขายทอดตลาด

หากคืนทรัพย์สินที่ยึดไม่ได้ กระทรวงการคลังต้องชดใช้เงินแทนเท่าจำนวนราคาทรัพย์ที่ยึดไป 

หากกระทรวงการคลังเพิกเฉยไม่ยอมคืนทรัพย์สินที่ยึดหรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถฟ้องต่อศาลปกครองขอให้พิพากษาให้กระทรวงการคลังคืนทรัพย์สินหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินได้  

คำถามสุดท้ายในเรื่องนี้คือ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี ในเรื่องทุจริต“ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ”หรือ “จีทูจี” ทำไมรัฐบาลไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อเรียกค่าเสียหาย น.ส. ยิ่งลักษณ์ กรณีสัญญาขายข้าว“ จีทูจี” 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ