คอลัมนิสต์

ปล่อยผี'ทัพอาระกัน'เกมมินอ่องหล่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลเกมมินอ่องหล่าย ดึง "กองทัพอาระกัน" เป็นแนวร่วม ปกป้องผลประโยชน์จีนในยะไข่

++
    สถานการณ์การเมืองในเมียนมา นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตำรวจ-ทหารใช้มาตรการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
    ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มผู้ประท้วงชูป้ายเรียกร้องให้สหประชาชาติ แทรกแซงตามหลักการ R2P ในรูปแบบการใช้กำลังทหารแทรกแซง เพื่อช่วยเหลือปกป้องพลเรือนในเมียนมา
    Respossiblity to protect เรียกย่อๆ ว่า R2P ‘หลักการรับผิดชอบเพื่อการคุ้มครอง’ เป็นมาตรการที่ถูกร่างขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดา และอดีตประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย 
    จะอย่างไรก็ตาม การนำกองกำลังทหารเข้ามาแทรกแซงในเมียนมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนทางการเมืองอยู่เยอะ โดยเฉพาะมี “กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์” มากกว่า 20 กลุ่ม กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเมียนมา
    อย่างกรณี พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้กุมอำนาจในเมียนมา ได้ปลดป้าย “กลุ่มก่อการร้าย” ออกจากกองทัพอาระกัน สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวสารในเมียนมาพอสมควร
    ทั้งที่ออง ซานซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ เคยเห็นด้วยกับการแขวนป้ายก่อการร้าย ซึ่งในการเจรจาสันติภาพปางโหลง ศตวรรษที่ 21 “ซูจี” ก็ไม่ได้เชิญตัวแทนกองทัพอาระกันเข้าร่วม เพราะเป็นองค์กรนอกกฎหมาย

++
สร้างแนวร่วม
++
    เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 คณะกรรมการต่อต้านก่อการร้ายสากล ในรัฐบาลทหารเมียนมาหรือสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ประกาศยกเลิกสถานการณ์เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ขององค์กรสหสันนิบาตแห่งชาวอาระกัน (United League of Arakan : ULA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army : AA)
    ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 คณะกรรมการต่อต้านก่อการร้ายสากล กระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลอองซานซูจี ประกาศให้องค์กรสหสันนิบาติแห่งชาวอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) เป็นกลุ่มก่อการร้าย และองค์กรนอกกฎหมาย
    2 ปีมานี้ กองทัพอาระกัน(AA) เป็นดาวรุ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เนื่องจากมีปฏิบัติการทางทหาร ในรัฐยะไข่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดยุทธการร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพโกก้าง (MNDAA) ในพื้นที่รัฐฉานเหนือ 
    องค์กรสหสันนิบาติแห่งชาวอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) มีผู้นำวัย 43 ปี ชื่อ พล.ต.ทุนเมี๊ยตไหน่ และมีสหายร่วมรบคือ ดร.โญทุนอ่อง รองผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน ทั้งคู่จะไปไหนมาไหนด้วยอยู่เสมอ รวมถึงการเดินทางมาพบแนวร่วมชาวยะไข่ในเมืองไทย

 ปล่อยผี'ทัพอาระกัน'เกมมินอ่องหล่าย

พล.ต.ทุนเมี้ยตไหน่ 

    พล.ต.ทุนเมี้ยตไหน่ เป็นชาวยะไข่รุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากเมืองนอก เขามีความช่ำช่องในการทำงานแนวร่วมชาวยะไข่หรือชาวอาระกันในต่างประเทศ จึงได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างมากมาย จนพัฒนากองทัพอาระกันให้แข็งแกร่ง และต่อกรกับกองทัพเมียนได้

 

 ปล่อยผี'ทัพอาระกัน'เกมมินอ่องหล่าย

โญทุนอ่อง รอง ผบ.กองทัพอาระกัน

    เนื่องจากรัฐยะไข่ มีชาวจีนมาลงทุนทำธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการวางท่อก๊าซและน้ำมัน จากรัฐยะไข่ ผ่านมัณฑะเลย์ รัฐฉานเหนือ ข้ามพรมแดนจีนที่เมืองรุ่ยหลี่ มณฑลยูนนาน จึงมีชาวพม่าเริ่มรณรงค์แอนตี้จีน ในระหว่างการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
    แหล่งข่าวในเมียนมาวิเคราะห์เกมปลดป้ายกลุ่มก่อการร้ายจากกองทัพอาระกัน ของกองทัพเมียนมา อาจเป็นเกมต่อรองให้กองทัพอาระกันช่วยดูแลผลประโยชน์ของจีนในรัฐยะไข่ 
    ปลายปีที่แล้ว จีนประสานงานให้ตัวแทนกองทัพอาระกันกับตัวแทนผู้นำกองทัพเมียนมา ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ที่ปางซาง เมืองหลวงของเขตพิเศษหมายเลข 2 กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ภาคเหนือของรัฐฉาน 
    หลังจากนั้น สถานการณ์การสู้รบในรัฐยะไข่ก็เบาบางลง กองทัพเมียนมาได้ส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่สู้รบ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวยะไข่ 
    ด้านโฆษกของกองทัพอาระกันแสดงความยินดีที่ทางกลุ่มหลุดออกจากบัญชีผู้ก่อการร้าย เขากล่าวว่า รัฐยะไข่ต้องทนทุกข์อยู่กับเหตุการณ์รุนแรงมาเป็นเวลาหลายปี การที่พ้นจากบัญชีผู้ก่อการร้ายถือเป็นสัญญาณในทางบวก 

++
สู้เพื่อรัฐเอกราช
++
    ในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกัน มีผู้นับถือพุทธกว่า 80% และบรรพบุรุษของพวกเขา ก็เคยต่อสู้กู้เอกราช เพื่อให้ยะไข่หรืออาระกัน เป็นรัฐเอกราช
    วันที่ 19 ก.ค.2490 นายพลอองซาน ถูกลอบสังหารพร้อมกับสมาชิกสภา และนายพลเนวิน ที่กระทำรัฐประหารฉีกข้อตกลงนี้ทิ้งไป ทำให้ดินแดนยะไข่หรืออาระกัน และดินแดนของชนชาติอื่นๆ มิได้รับอิสรภาพ
    สำหรับกองทัพอาระกัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 เม.ย.2552 ระยะแรก นักรบชาวยะไข่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ทั้งการฝึกรบทางยุทธวิธี และอาวุธ พวกเขามีพื้นที่การเคลื่อนไหวแถบรัฐชิน และรัฐยะไข่ตอนเหนือ มีวัตถุประสงค์ ปลดปล่อยชาวพุทธยะไข่จากการปกครองของรัฐบาลเมียนมา

 ปล่อยผี'ทัพอาระกัน'เกมมินอ่องหล่าย

 

 ปล่อยผี'ทัพอาระกัน'เกมมินอ่องหล่าย

ทหารกองทัพอาระกัน

    กองทัพอาระกัน ไม่ได้เกี่ยวพันกับกองกำลังปลดปล่อยมุสลิมโรฮิงญา และไม่ได้เป็นศัตรูกับชาวมุสลิมโรฮิงญา พวกเขาทำการสู้รบกับกองทัพเมียนมา เพื่อปกป้องชาวพุทธยะไข่
    ทุนเมี้ยตไหน่ ผู้นำสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) กล่าวว่า นักรบของเขาพร้อมที่จะปกป้องชาวยะไข่ และพวกเขามีอาวุธที่ทันสมัยที่ซื้อมาจากจีน
    “เราไม่ใช่พวกที่ยอมแพ้ เราต้องต่อสู้ในสงคราม การสวดมนต์อ้อนวอน ไม่ทำให้เราได้สันติภาพความสงบสุข” ทุนเมี้ยตไหน่ กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ