คอลัมนิสต์

เปิด 3 แนวทาง ศาลรธน. วินิจฉัยปมแก้ไข รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตของบ้านเมืองคือ ปมปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าทำได้แค่ไหนเพียงไรและเรื่องนี้จะมีคำวินิจฉัยออกมาได้ 3 แนวทาง

ลุ้นระทึกพรุ่งนี้(11 มี.ค.64 )เวลา 09.30 น.เมื่อตุลาการศาล รธน. ได้นัดวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560  โดยให้มีกระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. ) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ(โดยห้ามเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2)แล้วนำไปถามประชาชนโดยการทำประชามติว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ยกร่างขึ้นให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่ 

หรืออธิบายง่ายๆก็คือ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่... ทำได้หรือไม่  

ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอให้ประธานรัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเห็นว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาดเพราะขัดรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน 

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้มีได้  3 แนวทาง

แนวทางแรก  ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าเรื่องนี้ยังไม่เป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้

โดยให้เหตุผลว่า หากรัฐสภาเห็นว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ รัฐสภาก็สามารถไปวินิจฉัยกันเองได้ ลงมติกันเองได้ในวาระที่ 3 เป็นปัญหาของรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

แนวทางที่สอง  ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าที่ประธานรัฐสภาถามมามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว และเห็นว่า เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ดังนั้นรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับวิธีการนี้

แนวทางที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามแนวทางนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งได้ดำเนินการมาจนผ่านวาระ 2 ของรัฐสภา ต้องตกไป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องนับหนึ่งกันใหม่หมด

และยังมีผลว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร. )ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่สามารถทำได้ ตลอดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับปัจจุบันยังใช้บังคับอยู่ 

แน่นอนว่าทุกองค์กรรวมทั้งรัฐสภาต้องผูกพันและปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา

ส่วนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ