คอลัมนิสต์

งานหิน.. ฝ่า"5 ด่าน"แก้ไข รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาถึงช่วง หัวเลี้ยว-หัวต่อ ที่สำคัญ ทั้งการที่ ศาล รธน.จะทำการชี้ขาดว่าการแก้ไขทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และการที่ร่าง รธน.จะเข้าสู่พิจารณาวาระ 3 ของสภาฯ ..แต่รู้ไหมว่า การแก้ไข รธน. จะสำเร็จได้ ต้องฝ่าฝันถึง 5 ด่านสำคัญ

มาถึงช่วงสำคัญที่ต้องจับตามองสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 .. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวินิจฉัยในวันที่ 11 มี.ค. นี้ เกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาว่ามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างได้หรือไม่

ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปต่อได้ โดยอนุญาตให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี ส.ส.ร. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านวาระ 2 ไปแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 3 ของรัฐสภาในวันที่ 17 มีนาคมนี้

โดยสรุปเส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้  ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสำเร็จได้ จะต้องฝ่าฟันถึง" 5 ด่านสำคัญ"  

ด่านแรกสุด : ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 11 มีนาคมนี้

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำไม่ได้ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งแต่การเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่เป็นรายมาตราและเมื่อได้จำนวนชื่อครบตามที่กฎหมายกำหนด ก็นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะแก้ไขมาตราใด อย่างไร เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวาระแรก

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ต่อไป

ด่านที่ 2 :ที่ประชุมรัฐสภาจะต้องลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 ซึ่งจะต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 84 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้ ส.ว. ถึง 84 เสียง จาก ส.ว.ที่มีทั้งหมดจำนวน 250 คน (ซึ่ง ส.ว. ส่วนมากมาจากการคัดเลือกของ คสช. ในขณะที่รัฐธรรรมนูญปี 60  คงอำนาจ คสช. )

ด่านที่ 3 :  หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำประชามติถามประชาชน ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

และก.ม.ประชามติยังมีเงื่อนไขสำคัญว่า นอกจากผู้มาใช้สิทธิต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว คะแนนเห็นชอบต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิอีกด้วย

ด่านที่ 4 : หลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านประชามติและประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คนโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 

แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งในลักษณะเดียวกับเลือกตั้ง ส.ส. มีส.ส.ร. ได้เขตละคน เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จะไปเกี่ยวพันกับอำนาจหรืออิทธิพลในท้องถิ่น รวมไปถึงการโยงใยกับการเมืองในระดับชาติ  

สุดท้าย ด่านที่ 5 : เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จจะต้องให้ประชาชนเห็นชอบ โดยต้องทำประชามติอีกครั้ง ในเงื่อนไขเดียวกับด่านที่ 3 

หากผ่านประชามติก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การฝ่าด่านทั้งห้า เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันสำเร็จ จึงเป็น “งานหิน” อย่างยิ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ