คอลัมนิสต์

บทเรียนโลกร้อน "เท็กซัส"...ไทยวางแผนรับมือตรงข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ลึกลับโลกมนุษย์ โดย  ดร.บีจี

 

           พายุหิมะโหมกระหน่ำ อุณหภูมิติดลบกว่า 30 องศาใน “รัฐเท็กซัส” สร้างความพิสวงงงงวยให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่แถบนั้น ถูกประเมินคาดหัวตัวแดงมาตลอดว่า “ต้องเจอภัยแล้งจัดเพราะโลกร้อนแน่ ๆ” ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นขั้วตรงข้าม คือ “ภัยหนาวจัด”  เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา เท็กซัสเกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำฝนหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นแบบรุนแรง จนกระทบต่อการระบายน้ำบริเวณชายฝั่ง นักวิจัยหลายฝ่ายร่วมมือกันทำแบบจำลอง “worst case scenario” เป็นเสมือนคาดการณ์ล่วงหน้าว่า “กรณีเลวร้ายสุดจากผลกระทบโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นในเท็กซัสมีอะไรได้บ้าง” เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงให้ทันท่วงที

        ผลการจำลองบอกว่า พื้นดินเท็กซัสอาจเผชิญความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำสำคัญหลายสายจะแห้งขอด ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และทุ่งข้าวจะกลายเป็นสีน้ำตาลเพราะแดดแผดเผาอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา สภาพเลวร้ายภัยแล้งของรัฐเท็กซัส  ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอเมริกานั้น เริ่มก่อเค้าความรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2554

       มหันตภัยพายุหิมะที่เคลื่อนตัวเป็นระลอก ๆ มาเยือนแทบทุกพื้นที่เท็กซัส ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 กลายเป็นความหนาวเย็นสุดขั้วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน... กรมอุตุนิยมอเมริกาโชว์ตัวเลขวันที่ 14 ก.พ.2021 อุณหภูมิลดลงแตะระดับ ติดลบ -18 องศาเซลเซียล  ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเดือนนี้ของปีที่แล้ว อากาศสบายๆ ประมาณ 15 องศาเซลเซียล หมายถึงความแตกต่างที่มากถึงเกือบ 30 องศา

บทเรียนโลกร้อน "เท็กซัส"...ไทยวางแผนรับมือตรงข้าม

 

         ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพราะหนาวตายพุ่งสูงเกือบ 100 คน ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปาล่มสลาย ชาวเท็กซัส 12 ล้านคน ไม่มีน้ำไม่มีไฟใช้ หรือมีแบบติด ๆ ขัด ๆ  สำนักข่าวทั่วโลกรายงานโศกนาฏกรรมเด็กน้อยหลายคนนอนขดตัวหนาวตายภายใต้ผ้าห่มหลายชั้น เพราะในบ้านไม่เคยมีเครื่องทำความร้อน ระบบไฟฟ้าถูกตัดขาดหลายวัน บางครอบครัวแม่ตัดสินใจอุ้มลูกเข้าไปนอนเปิดฮีตเตอร์ในรถยนต์ แล้วเสียชีวิตเพราะก๊าซพิษจากท่อไอเสียไหลเวียนไม่ดีพอ

          นี่คือความลึกลับของ “ภาวะโลกร้อน” ไม่ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะร่วมมือกันทุ่มงบประมาณประดิษฐ์เทคโนโลยีไฮเทค เพื่อวิเคราะห์จำลองคาดการณ์ไว้อย่างไรก็ตาม สุดท้ายอาจพลิกขั้วเป็นตรงข้ามได้เสมอ

       ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของเท็กซัส วางแผนเตรียมพร้อมรับมือ “ภัยแล้งร้อน” ไว้อย่างเต็มที่ แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นขั้วตรงข้าม คือ ภัยหนาวพายุหิมะ แบบฉับพลันและรุนแรง !?!  

        มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส  ทำวิจัยและเผยแพร่หนังสือชื่อ “ผลกระทบของภาวะโลกร้อนในเท็กซัส” (The Impact of Global Warming on Texas) เมื่อปี 2554 เนื้อหาแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตของเท็กซัส และจำลองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันจากปัญหา “ภาวะโลกร้อน” และปัจจัยอื่น ๆ  

 

บทเรียนโลกร้อน "เท็กซัส"...ไทยวางแผนรับมือตรงข้าม

CBSNEWS

     

       มีการยืนยันว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากปริมาณน้ำฝนหรืออุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ชายฝั่งทรุดตัวต่อเนื่อง พร้อมเสียงเตือนถึงผลผลิตและรายได้ส่วนใหญ่ของชาวเท็กซัสที่มาจากภาคเกษตรอาจย่อยยับ เพราะภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ ฟาร์มพืชและฟาร์มสัตว์เสี่ยงเผชิญศัตรูพืชและโรคระบาด คำเตือนเกี่ยวกับ “ภัยแล้งและอากาศร้อนจัด” มีมาต่อเนื่องเรื่อย ๆ  

        เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นขั้วตรงข้าม  “ภัยหนาวรุนแรง” ทำให้ชาวเท็กซัสไม่ขาดแคลนน้ำ แต่กินไม่ได้เพราะเป็นน้ำแข็ง และไม่มีไฟฟ้าส่งมาถึงหม้อต้มน้ำท่อส่งก๊าซเกิดภาวะน้ำแข็งเกาะ กังหันผลิตพลังงานลมหมุนไม่ได้เพราะหิมะท่วม ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมสำรองเชื้อเพลิงหรืออุปกรณ์สิ่งของยังชีพไว้สำหรับรับภัยหนาว สิ่งที่พอมีก็คือ ถ่านดำถุงเล็ก ๆ ที่เตรียมไว้สำหรับเตาบาร์บีคิวย่างซี่โครงหมู

         บทเรียนโลกร้อน “เท็กซัส”...ทำให้ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย อาจต้องวางแผนรับมือความแปรปรวนของภูมิอากาศไว้หลายรูปแบบและหลากสถานการณ์มากกว่านี้ เพราะความลึกลับของมหันตภัยโลกร้อน อาจเกิดขึ้นแบบขั้วตรงข้ามได้เสมอ !

          อธิบายง่าย ๆ คือ เท็กซัสที่มีอุณหภูมิคล้ายไทย บางพื้นที่ร้อน บางพื้นที่หนาว พื้นที่หนาวสุดเฉลี่ยประมาณ 1- 5 องศา เช่นเดียวกับไทยในภาคเหนือแถบเชียงรายหรือน่านก็เคยลดต่ำถึง 1-2 องศามาแล้วเช่นกัน

 

บทเรียนโลกร้อน "เท็กซัส"...ไทยวางแผนรับมือตรงข้าม

   

     ที่ผ่านมานักวิชาการของไทยมักกังวลถึง “ภัยร้อนแห้งแล้งแบบต่อเนื่องและรุนแรง” จากก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ค่อยมีคำเตือนให้ระวังภัยหนาวแบบหฤโหดมากนัก เพราะมั่นใจว่าอากาศร้อนชื้นของไทยไม่ทำให้เกิดหิมะตกอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดแบบขั้วตรงข้ามในเท็กซัส อาจทำให้พวกเราต้องกลับมาช่วยกันพิจารณาความเป็นไปได้แบบเลวร้ายที่สุด การสร้าง แบบจำลอง “worst case scenario” ถ้าเกิดภัยหนาวจัดแบบเท็กซัส คนไทยจะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค ถ้าท่อส่งก๊าซกลายเป็นน้ำแข็ง หรือน้ำในบ่อเก็บของการประปาเป็นน้ำแข็งหมด ระบบไฟฟ้าไม่ทำงาน คนไทยจะทนความหนาวแบบไม่มีน้ำใช้ได้นานแค่ไหน

           ผศ.ประสาท มีแต้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ในฐานะ กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมสภาองค์กรของผู้บริโภค ตอบคำถามข้างต้นว่า ตอนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะไทยติด 1 ใน 8 ประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากโลกร้อนแบบรุนแรง  ข้อมูลคาดการณ์แบบเลวร้ายที่สุดนั้น  ส่วนใหญ่เน้นเผชิญปัญหา “คลื่นความร้อน” หรืออากาศร้อนติดต่อกันมากกว่าเดิมระดับ 100- 145 เท่า เช่น ไทยเคยร้อนสุด ๆ ปีละ 5 วัน ก็อาจเพิ่มเป็น 500 วันหรือร้อนต่อเนื่องทั้งปี หรือพื้นที่ทั่วไปจากที่เคยร้อนระดับ 2-3 ก็อาจพุ่งทะลุไประดับ 5 ได้

       ตอนนี้มีงานวิจัยแสดงถึงกระแสน้ำที่แปรปรวนในทะเลสาบ 700 แห่งทั่วโลก โดย UKCEH หรือ ศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (UK Centre for Ecology & Hydrology)  ระบุว่าปัญหากระแสน้ำแปรปรวนจะส่งผลต่อ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้างทั้งหมด เช่น ทำลายพืช ทำให้สัตว์น้ำตาย ชายฝั่งและหน้าดินถูกทำลาย ความหลากหลายทางชีวภาพหมดไป น้ำท่วมภัยแล้งจะเกิดขึ้นแบบกระทันหัน

 

 

            ผส.ประสาท ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ขั้วตรงข้ามที่เกิดในเท็กซัส หนาวจัดติดลบเกือบ -20 องศา ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ในเมืองไทย เพราะประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้งเวียดนามและพม่า บางพื้นที่ของภูเขาสูงก็มีหิมะตกเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว โอกาสที่คนไทยเจออากาศหนาวจัดติดลบแบบต่อเนื่องยาวนานก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นศูนย์ ถ้าพวกเราไม่พยายามลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง พร้อมกล่าวย้ำว่า  รัฐบาลไทยที่ผ่านมา มีตัวเลขสวย ๆ มาโชว์ ยังไม่เห็นความจริงจังในการลดพลังงานฟอสซิล

            เช่น นโยบายบังคับเลิกใช้รถยนต์แบบเดิมแล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า หลายประเทศกำหนดไว้เลยว่าอีก 5 – 10 ข้างหน้า ต้องโละทิ้งรถยนต์แบบเดิมให้ได้ 20 - 50 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงรถใหม่ที่ขายต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น หรือ ส่งเสริมโซลาเซลล์และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ  แต่ในไทยแลนด์เทคโนโลยีพวกนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ตอนนี้เอาแค่ลดฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ให้ได้เสียก่อน ยังไม่รู้จะทำจริงจังแค่ไหน...

       นับว่าเป็นคำเตือนที่น่าสนใจยิ่ง จากข้อมูลปี 2563 ไทยแลนด์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย หมายความว่าจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ไทยติดอันดับต้น ๆ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า เราจะรอดพ้นผลกระทบจากโลกร้อน?  

    ตัวการปล่อยก๊าซพิษเรือนกระจกของไทยมาจาก การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น คาร์บอนฯจากท่อไอเสียรถยนต์ และโรงไฟฟ้า สัดส่วนมากถึงร้อยละ 70  ทำให้นายกบิ๊กตู่ ต้องรีบให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกว่า ไทยจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 20-25% ภายใน 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 เราไปฟังว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับ “ปัญหาโลกร้อน” คิดอย่างไรก็เรื่องนี้

 

       ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ที่คลุกคลีข้อมูลวงในของ “กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.)” ในฐษนะตัวแทนรัฐไทยไปประชุมโลกร้อนมาเกือบทุกเวทีทั่วโลก วิเคราะห์ให้ฟังว่า  ตอนนี้ไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 12 ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ประกาศไว้ว่าร้อยละ 7 ในปี 2563 ส่วนใหญ่ลดเพราะเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 รวมถึงรณรงค์เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟฟ้าแอลอีดี และในอนาคตมีมาตรการอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งทางรถไฟ ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง  และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือป่าไม้

          สำหรับกรณีที่เกิดในเท็กซัสนั้น คงบอกไม่ได้ว่าไทยไม่เกิดแบบนั้น แต่ตอนนี้ไทยได้ “ยกร่างแผนการรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน” เรียบร้อยแล้ว ทั้งแบบระยะยาวและแบบฉับพลัน แต่ที่เรากังวลยังคงเน้นปัญหาภัยร้อนกับภัยแล้งมากกว่า เช่น สายไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่บนถนนทั่วไปนั้น เป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้ระดับไหน ระดับทนทานต่อแดดแผดเผาไม่หลอมละลาย หรือผังเมืองต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะ การขาดน้ำยาวนานในภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร  ฯลฯ

      สรุปง่าย ๆ ว่า รัฐไทยยกร่างแผนรับมือไว้หลายร้อยหน้ากระดาษแล้ว รอแค่คนไทยเอาไปทำตามให้ได้จริงเท่านั้น  ....แต่ก็อย่างที่เห็น ๆ มนุษย์โลกน้อยคนนักที่จะ “กลัว” ความลึกลับของ “มหันตภัยโลกร้อน” นอกจากวินาทีที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองเหมือนชาวเท็กซัส...!?!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ