คอลัมนิสต์

ไปต่อหรือพอส่ำนี้'ครูตั้น' คะแนนหาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จบศึกซักฟอก รัฐบาลสอบผ่าน แต่ "ครูตั้น" คะแนนบ๊วย อาจส่งผลต่ออนาคตตัวเองในค่าย พปชร. คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

++
    ผลการลงคะแนนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 151 วรรค 4 ที่ระบุว่า มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบัน ส.ส.ทั้งหมดมี 487 คน คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งเท่ากับ 245  คน ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี  ได้รับความไว้วางใจทุกคน เพียงแต่มีคะแนนที่ไม่เท่ากันเท่านั้น 
    ทุกครั้งหลังศึกซักฟอก สื่อมวลชนจะให้ความสนใจประเด็น “คะแนนไม่เท่ากัน” ลองมาส่งผลคะแนนเฉพาะ 3 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ 
    “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับความไว้วางใจ 258 ต่อ 214 คะแนน โดยมีส.ส.งดออกเสียง 8 คน จากจำนวนผู้เข้าประชุม 480 เสียง
    กรณีครูตั้น อาจกล่าวได้ว่า ผลโหวตออกมาตามคาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า เขาจะได้คะแนนโหวตไว้วางใจน้อยที่สุด 

              ไปต่อหรือพอส่ำนี้'ครูตั้น' คะแนนหาย

             ผลโหวตซักฟอก คะแนนบ๊วย ครูตั้นจะไปต่อยังไง 


    “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้รับความไว้วางใจ  263 ต่อ 212 คะแนน โดยมีส.ส.งดออกเสียง  5 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 481 เสียง
    รัฐมนตรีจากเมืองน้ำเค็ม ตกเป็นเป้าเขย่าขวัญจากคนในพรรคเช่นกัน แต่ดูผลคะแนนแล้ว ถือว่า ตัวเลขไม่สวย แต่ก็ไม่น่ากังวล
    ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับความไว้วางใจ 274 ต่อ 199 คะแนน โดยมี ส.ส.งดออกเสียง 5 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 479 เสียง
    ศึกซักฟอกปีที่แล้ว ร.อ.ธรรมนัส เจอหนักสุด คะแนนต่ำสุด แต่เที่ยวนี้กลับโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเบามาก และที่ผู้คนฮือฮา ตรงที่ ร.อ.ธรรมนัส ได้คะแนนไม่ไว้วางใจต่ำสุด แถมคะแนนไว้วางใจได้เท่ากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 
    กรณี ร.อ.ธรรมนัสนั้น สะท้อนว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีงูเห่าอยู่กลุ่มใหญ่ ที่โหวตไว้วางใจและทำตัวหายไปจากห้องประชุม   

++
มรสุมศึกใน
++
    พลันที่มีชื่อ “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ อยู่ในบัญชีเชือดของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็มีข่าวลือกระพือพัดว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 30 คน จะโหวตไม่ไว้วางใจครูตั้น
    ร้อนถึง วิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ต้องให้สัมภาษณ์นักข่าวกรณี 30 ส.ส.โหวตสวนว่า เพียงแต่คำพูด บางครั้งพูดกันสนุกๆ ก็อย่าเก็บนำมาเป็นประเด็น 
    รัฐมนตรีณัฏฐพล ได้ตอบคำถามนักข่าวประเด็นเดียวกันนี้ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ความเห็นที่ไม่ตรงกันมีอยู่แล้วในพรรคการเมือง ไม่น่าจะเป็นอะไรที่น่ากังวล เราทำหน้าที่ต่อในสภา และไม่รู้สึกน้อยใจอะไร เป็นเรื่องธรรมดา
    สมัยเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกวางตัวให้เป็นแม่ทัพเมืองหลวงของพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากทั้งคู่เคยเป็น ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มาก่อน บวกกับการเป็นแกนนำ กปปส.ช่วงปี 2556-2557
    หลังเลือกตั้ง “พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล” ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี มีบทบาทในฝ่ายบริหาร แต่ทำตัวเหินห่างจาก ส.ส.เมืองหลวง ส่งผลให้ ส.ส.กทม. ค่ายพลังประชารัฐ กระจัดกระจายไปอยู่ตามกลุ่มต่างๆ ไม่ได้เป็นเอกภาพดังที่หลายคนเข้าใจ
    ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ,พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส , ชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. พ่วงด้วยสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ยังมั่นใจว่า คุมฐานเสียงเมืองกรุงได้ จึงคิดการใหญ่ส่ง ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยาครูตั้น ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.  
    นี่คือจุดเปลี่ยนของอดีตแกนนำ กปปส. พวกเขาตบเท้าออกจาก ปชป. มาร่วมสร้าง พปชร. แต่วันข้างหน้าจะอยู่ต่อหรือไม? ผลโหวตศึกซักฟอก ก็ให้คำตอบระดับหนึ่งแล้ว

++
ปมคู่ชีวิต
++
    ทยา ทีปสุวรรณ เติบโตมาจากตระกูลการเมือง “ศรีวิกรม์” ทยามีบุคลิกต่างจากพี่ชาย-พิมล ศรีวิกรม์ เธอเป็นส่วนผสมทางการเมืองของเฉลิมพันธ์-คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์
    แม้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณีภรรยา-ทยา ทีปสุวรรณ เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “เขาตั้งใจที่จะทำงานเพื่อการเมือง คงไปห้ามไม่ได้ ผมเป็นสามียังห้ามไม่ได้” แต่ “ผู้ใหญ่” ในพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ได้คิดอย่างที่ครูตั้นบอกทุกคน

          ไปต่อหรือพอส่ำนี้'ครูตั้น' คะแนนหาย

       ทยา มั่นใจลุยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.


    ครูตั้นและทยา เข้าสู่สังเวียนการเมืองในช่วงเดียวกัน เลือกตั้ง 2550 ตั้นลงสมัคร ส.ส.เขต 10 กทม. แต่สอบตก ต่อมา มีเลือกตั้งซ่อมปี 2552 ครูตั้นสอบได้ ส่วน ทยารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ทั้งคู่ได้รับการสนับสนุนจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น 
    บนเส้นทางการเมืองที่ครูตั้นเติบโตชนิดก้าวกระโดดในพรรค ปชป. ทำให้เขามั่นใจในการทำงานการเมืองแบบที่เรียนรู้มาจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เขาจึงไม่แคร์ใครบางคนในพลังประชารัฐ 
    ด้วยบุคลิกที่เชื่อมั่นตัวเองสูง นับวันครูตั้นจะแปลกแยกจากกลุ่มต่างๆในค่าย พปชร. อาจถึงขั้นโดดเดี่ยวกลุ่มตัวเองเลยก็เป็นได้ 
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ