คอลัมนิสต์

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แปลกแต่จริง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนบินพบ "ซูจี" และ "มินอ่องหล่าย" ก่อนหน้าการรัฐประหารใต้รัฐธรรมนูญ คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก

++
พลันที่กองทัพเมียนมา อาศัยมาตรา 417 รัฐธรรมนูญ ปี 2551 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของโลก นานาชาติฝั่งตะวันตก ส่งเสียงคัดค้านอึงมี่ เรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี และนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...
รู้จัก "มินอ่องหล่าย" ลูกบุญธรรม "ป๋าเปรม"
 

 

 

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

รมต.ต่างประเทศจีน พบมินอ่องหล่าย เมื่อ 11 ม.ค.2564
    

ขณะที่ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่นครปักกิ่งว่า "เราได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา และอยู่ในกระบวนการทำความเข้าใจสถานการณ์"
    

พร้อมกับยืนยันว่า “จีนเป็นมิตรประเทศของเมียนมา เราหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถรับมือกับความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญ กรอบของกฎหมาย และพิทักษ์เสถียรภาพของสังคมและการเมือง" 
    

นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลายคนมองว่า จีนรับรู้มาก่อนว่าต้องเกิดการยึดอำนาจในเมียนมา เนื่องจากวันที่ 11-12 มกราคม 2564 หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
    

 

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

รมต.ต่างประเทศจีน พบอองซานซูจี เมื่อ 12 ม.ค.2564

 

 

ห้วงเวลานั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอองซานซูจี กับกองทัพเมียนมา เรื่อง กกต.กระทำการทุจริตการเลือกตั้ง เริ่มตรึงเครียด เมื่อตัวแทนกองทัพเมียนมา ขอให้เลื่อนการเปิดประชุมสภาฯ ออกไปก่อน แต่ฝ่ายอองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้น
    

บังเอิญ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนมาเยือนเมียนมา ในจังหวะเมียนมามีวิกฤตการเมือง ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา


++
มังกรรู้ดี
++
ย้อนไปวันที่ 11 ม.ค.2564 หวังอี้ รมต.ต่างประเทศจีน ได้พบกับอูวินมิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา(เวลานั้น) และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ(เวลานั้น) ได้หารือกันในประเด็นความมั่นคงชายแดน ความร่วมมือระดับภูมิภาค และบทบาทของจีนในการสร้างสันติภาพในเมียนมา และการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ 
    

วันถัดมา(12 ม.ค.) หวังอี้ ได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแห่งชาติ ได้หารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเศรษฐกิจ 
    

นอกจากนี้ การมาเยือนเมียนมาของหวังอี้ ก็ได้บอกว่า จีนจะมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ 1 ลอตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัคซีนกับเมียนมาต่อไป
    

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง

 

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่อองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บริหารประเทศ ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีน ด้านหนึ่ง กรณีโรฮิงญา ส่งผลให้นานาชาติกดดัน “ซูจี” จึงทำให้จีนเข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงไปโดยปริยาย
    

อย่างไรก็ตาม จีนยังสนับสนุนกองทัพเมียนมา และมีอิทธิพลเหนือกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น  
 

++
ต้านเผด็จการ
++
ประเทศตะวันตก อาจรู้สึกแปลกใจ หลังการรัฐประหาร บรรยากาศตามเมืองต่างๆของเมียนมา ทั้งกรุงเนปิดอว์ และกรุงย่างกุ้ง เงียบสงัด ไม่มีทีท่าว่าประชาชนจะเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด 

 

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง
    

มีเพียงกลุ่มพลังมวลชนของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่ออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนสนับสนุนกองทัพเมียนมา ในเขตย่างกุ้ง
    

ส่วนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวอองซานซูจีโดยเร็ว ก็ยังไม่มีการปลุกระดมให้สมาชิกพรรคออกมาชุมนุมบนท้องถนน
    

"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว

การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง

 

ที่น่าสนใจ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมาจำนวนหนึ่ง เชิญชวนผ่านโซเชียลให้แสดงอารยะขัดขืน หยุดงาน ไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.นี้เป็นต้นไป
    

เมื่อค่ำวันที่ 2 ก.พ.2564 ประชาชนในนครย่างกุ้งออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการเข้ายึดอำนาจของกองทัพ ด้วยการจุดเทียน พร้อมกับชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจเผด็จการ นอกจากนี้ ยังมีการบีบแตรรถยนต์ และเคาะหม้อ กระทะ กะละมังตามอาคารที่พักอาศัย 
    

โลกยุคดิจิตอล กองทัพเมียนมามิอาจปิดกั้นการสื่อสารสมัยใหม่ได้ จึงมีชาวพม่าจำนวนไม่น้อยที่ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติ
    

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ