คอลัมนิสต์

ทหารพม่า ขอเวลาอีกไม่นานล้างโกงเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขุนศึก "มิน อ่องหล่าย" ยึดอำนาจเงียบ อ้างซูจี สมคบ กกต.โกงเลือกตั้ง ขอเวลา 1 ปี ปฏิรูป กกต. จัดการเลือกตั้งใหม่

++
ยุทธการรุ่งอรุณที่เนปิดอว์ เริ่มขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ.2564 กองทัพเมียนมาได้ส่งทหารเข้าจับกุมตัว ออง ซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอูวิน มินท์ ประธานาธิบดีสหภาพเมียนมา พร้อมกับบรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้งหลาย

 

อานข่าวที่เกี่ยวข้อง...

ทหารเมียนมาทำรัฐประหาร จับ "อองซาน ซูจี"
 อองซาน ถูกกักบริเวณไว้ พร้อมแกนนำคนสำคัญของพรรคNLD

 

ทหารพม่า ขอเวลาอีกไม่นานล้างโกงเลือกตั้ง

การปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของ ซูจี เมื่อ 29 ม.ค.2564


    

เวลา 8.00 น. (1 ก.พ.) สถานีโทรทัศน์กองทัพเมียนมา ได้ประกาศสถานการณ์ในประเทศเป็นเวลา 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2551 โดยอ้างมาตรา 413-418 ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอายุ 1 ปี (สามารถต่ออายุได้ครั้งละ 6 เดือน)
    

มาตราดังกล่าว ระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถมอบอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) โดย ผบ.สส. จะใช้อำนาจดังกล่าวด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้หน่วยงานของกองทัพใช้ก็ได้ อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา จะหมดไปนับแต่วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากรัฐสภาหมดอายุระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนรัฐสภา
    

กองทัพเมียนมาเรียกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สื่อมวลชนต่างประเทศบอกว่า นี่คือ รัฐประหาร 
    

หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กองทัพเมียนมาได้ตั้ง อูมินต์ ฉ่วย รองประธานาธิบดี ที่มาจาก ส.ส.สายทหาร เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว 
    

ในเวลา 1 ปี กองทัพเมียนมา และสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะดำเนินคดีกับ กกต.ชุดเดิม ที่กระทำการทุจริตเลือกตั้งครั้งมโหฬาร และจัดให้การมีการเลือกตั้งทั่วไป 

 

ทหารพม่า ขอเวลาอีกไม่นานล้างโกงเลือกตั้ง

พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย

 

 


++
รัฐประหารซ่อนรูป
++
สถานการณ์การเมืองในเมียนมา ยังมีความสับสนในเรื่องรายละเอียด เพราะกองทัพเมียนมา ปิดกั้นการสื่อสารทุกด้านในกรุงเนปิดอว์ 
    

หากย้อนไปรัฐธรรมนูญ ปี 2551 ที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยสภาความมั่นคงและการพัฒนาแห่งรัฐ สมัยรัฐบาลทหารเมียนมา นำโดยนายพลขิ่น ยุ้น
    

ดังนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญสายทหารเมียนมา จึงเขียนหมวดที่ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ถึง 23 มาตรา อันเป็นช่องทางที่ทำให้กองทัพจะยึดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญเมื่อใดก็ได้
    

รัฐธรรมนูญของเมียนมา กำหนดให้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภานิติบัญญัติ มีไว้สำหรับข้าราชการทหาร คือ จะมี ส.ส.จากการแต่งตั้งของ ผบ.สส. ร้อยละ 25 คือสภาผู้แทนราษฎร 110 คน 2.สภาชาติพันธุ์ มีสมาชิก 56 คน รวมสองสภา มี ส.ส.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ผบ.สส. 166 คน
    

แม้ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะครองเสียงข้างมากในสภาฯ พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เสียงในสภาไม่พอ เพราะ ส.ส.สายทหาร ร้อยละ 25 ของสภาสหภาพ ยังขวางทางอยู่ 
    

พูดง่ายๆ จำนวนเสียง ส.ส.ในสภาฯ ของอองซานซูจี ไม่เพียงพอ จึงฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ต้องการชนะให้ได้เสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ

ทหารพม่า ขอเวลาอีกไม่นานล้างโกงเลือกตั้ง

กองทัพพม่าแถลงการโกงเลือกตั้ง ชนวนการยึดอำนาจ

 

 

++
ปมโกงเลือกตั้ง
++
ชัยชยะแบบถล่มทลายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้นำซึ่งการเผชิญหน้าของกองทัพเมียนมา กับออง ซานซูจี 
    

วันที่ 15 พ.ย.2563 คณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ(UEC) ประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563  ปรากฏว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับเลือกทั้ง 3 สภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) 258 ที่นั่ง ,สภาชาติพันธุ์ (สภาสูง) 138 ที่นั่ง และสภาภูมิภาคและรัฐ 501 ที่นั่ง รวมแล้ว 900 กว่าที่นั่ง
    

ส่วน พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(USDP) ได้รับเลือกเพียง 71 คน แบ่งเป็นสภาผู้สภาแทนราษฎร(สภาล่าง) 26 ที่นั่ง,สภาชาติพันธุ์ (สภาสูง) 7 ที่นั่ง และ สภาภูมิภาคและรัฐ 38 ที่นั่ง 
    

วันที่ 5 ม.ค.2564 พรรค USDP  และพรรค DNP ยื่นคำร้องถึงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งทั่วไป ศาลนัดแถลงคำวินิจฉัย ในวันที่ 29 ม.ค.2564
    

วันที่ 14 ม.ค.2564 กองทัพเมียนมา แถลงคัดค้านคำประกาศของประธานสภาแห่งสหภาพที่ไม่เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ กรณีมีพรรคการเมืองเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป 
    

วันที่ 26 ม.ค.2564 กองทัพเมียนมา ตั้งโต๊ะแถลงเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโกงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา 
    

วันที่ 27 ม.ค.2564 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแห่งชาติ บรรยายพิเศษทางไกลผ่าน Video Conference ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (NDC) สถาบันวิชาการป้องกันแห่งชาติเมียนมา กรุงเนปิดอว์ ความตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์การปกครองทางด้านการเมืองอย่างกว้าง ๆ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปบริหารในทางการเมืองของรัฐหรือประเทศ 
    

ประโยคที่ว่า “หากไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ชอบระบอบรัฐธรรมนูญยกมาเป็นข้ออ้างในการล้มเลิกกฎหมายนี้ นั่นหมายความว่าจะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ” ทำให้มีการตีความว่า กองทัพเตรียมก่อการรัฐประหาร
    

แม้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย จะให้โฆษกกองทัพเมียนมา ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่เช้าวันที่ 1 ก.พ.นี้ กองทัพเมียนมาก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ