คอลัมนิสต์

ไขข้อสงสัย ..เรื่องต้องรู้'เลือกตั้งเทศบาล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. )ได้เคาะออกมาแล้วให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลในวันอาทิตย์  28 มีนาคม  2564 ที่ผ่านมาประชาชนอย่างเราๆซึ่งมีสิทธิในการเลือกตั้งเทศบาล รู้จักการปกครองรูปแบบ"เทศบาล"มากน้อยแค่ไหน.. มาทำความรู้จักกัน

 "เทศบาล" เป็นรูปแบบหนึ่งของ”การปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือ การที่รัฐบาลจากส่วนกลางกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและบทบัญญัติของกฎหมาย

ทั้งนี้รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น มี 2 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ. ) ซึ่งมีการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศไปเมื่อ 20  ธันวาคมที่ผ่านมา, เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต. ) และ 2. รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

    ไขข้อสงสัย ..เรื่องต้องรู้'เลือกตั้งเทศบาล'
 

"เทศบาล"เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตชุมชนเมืองโดยเทศบาลแบ่งเป็น 3 ประเภท

1. เทศบาลตำบล (ทต.)  เป็นเทศบาลเล็กที่สุด มีประชากร 7,000 คนขึ้นไป และมีรายได้ตั้งแต่ 12,000,000 บาท ขึ้นไป

2.เทศบาลเมือง(ทม.)  เป็นเทศบาลขนาดกลาง ได้แก่ ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป 

3.เทศบาลนคร (ทน.) เป็นเทศบาลที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป

เหตุผลในการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในประเทศไทย

หากจะกล่าวถึงเหตุผลในการจัดตั้งเทศบาลในประเทศไทย เราอาจมีเหตุผลในการจัดตั้งเทศบาลในประเทศไทยได้ 2 เหตุผลใหญ่ ๆ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง จัดตั้งเทศบาลเพื่อให้สอดคล้องกับการเมืองการปกครองในระดับชาติที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ เมื่อการปกครองในระดับชาติเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนเข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ มีการแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจในทางนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

ดังนั้น การปกครองในระดับท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนจึงจำเป็นต้องมีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยในระดับชาติ โดยที่องค์กรเทศบาล เป็นองค์กรทางการเมืองแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองตนเองได้อย่างเต็มที่ตามหลักการกระจายอำนาจ  อีกทั้งยังมีการล้อโครงสร้างของการเมืองในระดับชาติมาจำลองใส่ไว้ในเทศบาลด้วย คือ มีการแบ่งแยกฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาที่ทำหน้าที่ในการออกเทศบัญญัติออกจากกัน และทำหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ การจัดตั้งเทศบาลยังคงต้องให้สอดคล้องไปกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ ที่ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเทศบาลก็คือการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั่นเอง

ประการที่สอง จัดตั้งเทศบาลเพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล เนื่องจากภารกิจของรัฐบาลมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจจะลงไปควบคุมดูแล หรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรการเมืองอื่นๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ต่างๆ นี้ลง และทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับการบริการจากภาครัฐได้รวดเร็วและทั่วถึงยิ่งขึ้น

ไขข้อสงสัย ..เรื่องต้องรู้'เลือกตั้งเทศบาล'

 

 

ปัจจุบันมีเทศบาลจำนวน 2,472 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และ เทศบาลนคร  30 แห่ง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยเปิดรับสมัคร 8 -12 กุมภาพันธ์ นี้

สำหรับโครงสร้างของเทศบาลแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกเทศมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สมาชิกสภาเทศบาล

หน้าที่ของเทศบาล

-จัดทำบริการสาธารณะต่างๆ

-รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

-ดูแลการจราจร

-ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

- ส่งเสริมศาสนา

 -พัฒนาเด็กเล็ก

- การบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ฯลฯ

นายกเทศมนตรีมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน  2 วาระไม่ได้

หน้าที่และอำนาจของนายกเทศมนตรี

นายกเทศมนตรีมีอำนาจกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล โดยมี"ปลัดเทศบาล"ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล รับผิดชอบดูแลข้าราชการประจำของเทศบาลให้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายของนายกเทศมนตรี

สมาชิกสภาเทศบาล

-เทศบาลตำบล มีสมาชิกสภาจำนวน 12 คน แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง  

-เทศบาลเมือง มีสมาชิกสภาจำนวน 18 คน แบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง

-เทศบาลนคร  มีสมาชิกสภาจำนวน 24 คน แบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง

สมาชิกสภาเทศบาลมีกำหนดคราวละ  4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

ความสำคัญของสมาชิกสภาเทศบาล

สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) มีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามรูปแบบของระบบรัฐสภา และมีหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติอันเกี่ยวข้องกับการร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆของเทศบาล 

การจัดการเลือกตั้ง

อำนาจในการจัดการบริหารเลือกตั้งเทศบาล จะอยู่ที่ “ปลัดเทศบาล”  เป็นแม่งาน  กล่าวคือ” ปลัดเทศบาล” มีอำนาจบริหารจัดการเลือกตั้ง เหมือน เลือกตั้ง อบจ. ที่ ปลัด อบจ. บริหารจัดการเลือกตั้ง  ส่วน กกต.  ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง

การลงคะแนนเลือกตั้ง

เมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง) จะได้บัตรลงคะแนน 2 ใบ   

 1.บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี         เลือกผู้สมัครได้ไม่เกิน 1 คน  

2.บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล    เลือกผู้สมัครได้ไม่เกิน 6 คน

  ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

- มีสัญชาติไทยแต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

-มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง

-มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง

-หากไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งเทศบาล จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี  อาทิ สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.  ส.ว.  ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่ได้ , สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน หรือดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่ได้

โทษสำหรับผู้ที่ซื้อสิทธิ ขายเสียง

มีโทษจำคุก  1-10 ปี และปรับ 20,000-200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

โปรลาซาด้า

ไขข้อสงสัย ..เรื่องต้องรู้'เลือกตั้งเทศบาล'

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ