คอลัมนิสต์

ชัดเจน...ทนายคนดังฟันธง แท้จริง สทศ.ไม่มีอำนาจ จัดทดสอบ 'โอเน็ต' ให้นักเรียนเลย

ชัดเจน...ทนายคนดังฟันธง แท้จริง สทศ.ไม่มีอำนาจ จัดทดสอบ 'โอเน็ต' ให้นักเรียนเลย

10 ม.ค. 2564

กว่า10 ปี หน่วยงานนี้ จัดสอบให้นักเรียนไทยทั่วประเทศ แต่ 'ทนายคนดัง' ฟันธง ชัดเจน...แท้จริง สทศ.ไม่มีอำนาจจัดทดสอบ 'โอเน็ต' ให้นักเรียนเลย.....เรื่องโดย กมลทิพย์ ใบเงิน

กำลังจะกลายเป็นเรื่องยุ่ง อีลุงตุงนัง เกี่ยวกับการทดสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6 หรือป.6 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.3 ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบนั้น

อ่านข่าว : ด่วน 'ณัฏฐพล' รมว.ศธ. ร่อนหนังสือถึง สทศ.ยกเลิกสอบโอเน็ต ป.6,ม.3

           : สอบหรือไม่สอบ 'โอเน็ต' สุดท้ายจบที่นักเรียน อ้างเป็นสิทธิ์ส่วนตัวได้

ดูเหมือนว่า หลังจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ให้สทศ.ยกเลิกการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตปีการศึกษา 2563 แต่สทศ.ยังเดินหน้าจัดสอบเหมือนเดิม

เหนืออื่นใด ในการยกเลิกหรือไม่ยกเลิกสอบโอเน็ต นั้น แท้จริงเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานไหนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หาคำตอบจากทนายคนดัง หรือ นายคมเทพ ประภายนต์ อุปนายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ เปิดเผย‘คมชัดลึกออนไลน์’ ในเรื่องนี้ว่า  ต้องย้อนกลับไปดูที่มาของการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.ก่อน พบว่าสทศ.เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฏีกา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เป็นผู้เสนอ และปฏิบัติหน้าที่ตามศธ.สั่งการผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)

หากสทศ.มีอำนาจในการจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือสอบโอเน็ตจริง อย่างถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ทำไมนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร นักเรียนที่เรียนในหลักสูตรสองภาษาถึงไม่ต้องสอบโอเน็ต และสทศ.บังคับให้สอบก็ไม่ได้

ที่น่าสังเกตุ สทศ.ทำหน้าที่จัดสอบโอเน็ต นักเรียนระดับชั้นป.6, ม.3 และ ม.6 มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จากจุดเริ่มต้นเพียงจัดสอบวัดความรู้และความคิดของนักเรียน ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เพื่อนำผลสอบมาพัฒนาการเรียนการสอนของนักเรียนให้ตรงตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

วันเวลาเปลี่ยน การสอบโอเน็ตไม่ได้มีเพียงเอาไว้ประมินคุณภาพของผู้เรียนเท่านั้น  เมื่อการสอบโอเน็ตถูกนำมาเชื่อมโยงกับการสอบเข้าเรียนในระดับอดุมศึกษา

การสอบโอเน็ตกลายเป็นอีกวิชาที่เด็กนักเรียนต้องเรียนพิเศษกับติวเตอร์ เพื่อให้ผลการสอบออกมาดี บางโรงเรียนถึงขั้นจัดสอนพิเศษหลังเลิกเรียน หรือวันหยุด เพื่อให้ภาพรวมคะแนนโอเน็ตของโรงเรียนออกมาดี

โอเน็ตกลายพันธุ์ และสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษา เมื่อช่องว่างระหว่านักเรียนยากจนกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดี โอกาสสอบโอเน็ตได้คะแนนดีผันแปรตามไปด้วย 

โอเน็ตกลายเป็นกระสในสังคม เมื่ออยากได้คะแนนเต็มหรือคะแนนดีต้องเสียเงิน อีกทั้งการจัดสอบแต่ละครั้ง นักเรียนต้องเดินทางไกลออกจากบ้านพักหรือที่พัก มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งมีค่าอาหาร ที่ผู้จัดสอบไม่ได้รับผิดชอบอะไร

ทนายคมเทพ ย้ำว่า  ข้อเท็จจริง เมื่อสทศ.เกิดจากกฏหมายต่ำศักดิ์กว่ากฏหมายหมายแม่บมของการศึกษา และต้องทำหน้าที่ตาม รมว.ศธ.มีข้อสั่งการ รวมทั้งการจะยกสอบโอเน็ตหรือไม่ ไม่ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ รมว.ศธ. สามารถสั่งยกเลิกได้เลย

“ อย่าลืมว่าเมื่อสทศ.ไม่มีอำนาจในการจัดทดสอบโอเน็ต และไม่มีสิทธิ์เอาคะแนนของเด็กหรือนักเรียนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย เพราะเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ได้รับการคุ้มครองจากกฏหมายรัฐธรรมนูญ2560, พ.ร.บ.การศึกษา 2542 และคำสั่งตามมาตรา 44 ข้อ 8 คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว” ทนายคมเทพ กล่าวย้ำในที่สุด