คอลัมนิสต์

 ถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ในอนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ในอนาคต

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้สร้างผลกระทบถ้วนหน้าทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามการมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลจะสามารถช่วยทุกประเทศเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

 

อ่านข่าว : ด่วน ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันนี้แค่ 2 ราย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์จนได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวบนเวทีสนทนาเรื่อง ‘Chances Favour the Prepared Mind: Crisis Management Post Pandemic (โอกาสที่เอื้อต่อการปรับทัศนคติ: การศึกษาการบริหารจัดการวิกฤติหลังโรคระบาด)’ ที่จัดโดย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสมาชิกสมาคมที่ล้วนเป็นบริษัทที่มีหรือเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายที่ยังไม่สามารถรักษาได้ หรือเพื่อให้การรักษาโรค

 

มีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป เวทีสนทนานี้เป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค 2020 (Bio Asia Pacific 2020) ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 

ผู้เข้าร่วมการสนทนา ได้แก่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านระบาดวิทยาภาคสนาม กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ดร. นเรศ ดำรงชัย Co-Chair, APEC Life Sciences Innovation Forum, สิริภัทร สุมนาพันธุ์ ผู้จัดการโครงการโปรแกรมเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และ

 

มร. จอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (พม่า กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ดร. นรา เดชะรินทร์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ในการสนทนา ดร. นเรศ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วโรคโควิด – 19 (COVID-19) ก็จะหายไป แต่ทุกประเทศต้องเตรียมตัวรับวิกฤตใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นมาอีกต่อไป

 

“ยังมีวิกฤตหนัก ๆ อีกมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการโจมตีสร้างความเสียหายบนโลกไซเบอร์ ในตอนนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศควรจะทำอย่างไร และไทยเราเตรียมตัวไว้แล้วอย่างไร”

 

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกมีมากกว่า 40 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทย ณ เดือนตุลาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 3,700 ราย และผู้เสียชีวิต 59 ราย

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ประเทศไทยยังอยู่ในการระบาดระลอกแรก อัตราการติดเชื้อยังมีแค่ 5.6 ต่อประชากรจำนวนแสนคน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนมากคือผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและประชาชนตามชายแดน โดยที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยยังต่ำ ซึ่งต้องยกความดีให้กับมาตรการ 6C นั่นคือ

 

การคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วย ที่สถานพยาบาล ชุมชน (Capture) การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อ (Case management and infection control) การติดตามผู้สัมผัสโรคและควบคุมการระบาดในชุมชน (Contact tracing) การสื่อสารความเสี่ยง (Communication) การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย (Community intervention and Law enforcement และการประสานงานและจัดการข้อมูล (Coordinating and Joint Information Center)

 

 ถอดบทเรียนจากโควิด-19  เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ในอนาคต

 

นอกเหนือจากนั้นคือระบบการแพทย์ที่ดี ประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในอดีต เครือข่ายเจ้าหน้าที่สุขภาพที่เข้มแข็ง และความใส่ใจจากรัฐบาล

 

“ความท้าทายคือเมื่อไรที่ประเทศไทยจะประสบกับการระบาดระลอกสอง ถึงตอนนั้นเราจะควบคุมมันได้ดีหรือไม่ ในภาวะที่เศรษฐกิจทรุดตัวแบบนี้”

 

สิริภัทร เล่าว่าที่ TCELS มีการระดมทีมรวบรวมวิธีรับมือไวรัส COVID-19 สำหรับให้ทีมแพทย์ และนักพัฒนาเทคโนโลยี AI นำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแผนภูมิและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการเตรียมการณ์สำหรับอนาคต ข้อมูลเหล่านี้มีตั้งแต่มาตรการควบคุมทั้งหลายและทุกเทคโนโลยีที่นำมาใช้ รวมทั้งการประเมินการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อให้คำแนะนำและวางแผนในการรับมือสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ในอนาคต

 

ด้าน มร. จอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (พม่า กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช หนึ่งในผู้นำด้านการจัดหาเวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์ เรียกการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าเป็น “เหตุการณ์ของหงส์ดำ” (Black Swan event) ที่ทำให้องค์กรของเขาต้องปรับตัวมากขึ้น ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2558 บริษัทฯต้องหาวิธีไม่ให้การส่งเวชภัณฑ์และการบริการทางการแพทย์มีปัญหา ด้วยการขนส่งทางเรือ บริษัทฯผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้และมั่นใจว่าพร้อมรับมือกับทุกวิกฤต แต่ COVID-19 ทำให้บริษัทฯต้องเปลี่ยนความคิดนั้น

 

ขณะนี้บริษัทฯกำลังสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนต้องพิจารณาทุก ๆ สถานการณ์และมีแผนสำรองเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้แม้ว่าจะมีโรคระบาด โดยมีการนำผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักระบาดวิทยาเข้ามาช่วยฝ่ายบริหารเตรียมตัวรับมือกับภาวะวิกฤต

 

“การระบาดครั้งนี้ทำให้ทุกองค์กรต้องคิดใหม่ในเรื่องห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งซัพพลายเออร์ (Supplier) เพียงรายเดียว”

 

นอกจากนั้น องค์กรยังต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้นในช่วงที่มีการระบาด ความท้าทายของดีเคเอสเอช คือทำอย่างไรให้การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกร เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่มีปัญหา

 

“เหตุการณ์แบบนี้คงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะนี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ดังนั้นเราต้องพร้อม เราต้องมีวัฒนธรรมองค์กรและทีมบริหารที่พร้อม เพราะนี่คือส่วนที่สำคัญที่สุดในการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤต”

 

ดร. นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมตัวรับมือถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่สุดในกระบวนการจัดการกับวิกฤตที่รวมถึงการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู เพราะการเตรียมตัวรับมือต้องใช้เวลาและทรัพยากรซึ่งคนมักมองว่า ไม่จำเป็นในขณะนั้น มากไปกว่านั้นคือวิกฤตต้องการการจัดการที่เป็นระบบไม่ใช่พึ่งพิงแค่ทักษะความสามารถเฉพาะหน้า เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนจัดกีฬาโอลิมปิกมีการเตรียมตัวล่วงหน้าหลายปี รองรับการก่อการร้ายด้วยรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งอาวุธชีวภาพ มีการตั้งระบบข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่สามารถบอกข้อมูลปัจจุบันได้ทุกจุด เช่นว่า หากเกิดเหตุที่คนจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน โรงพยาบาลใกล้เคียงแห่งไหนมีเตียงว่างเท่าไหร่

 

 ถอดบทเรียนจากโควิด-19  เพื่อพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ในอนาคต

 

ดร. นเรศ เสนอว่าประเทศไทยต้องมีระเบียบการจัดการงบประมาณใหม่เพื่อสร้างระบบการรับมือวิกฤตที่มีประสิทธิผล ในปัจจุบันประเทศไทยจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการกับวิกฤตผ่านกลไกงบกลาง เช่นเวลาเกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง การใช้งบกลางมีระเบียบที่เข้มงวดไม่คล่องตัว ในกรณีวิกฤตอาจทำให้ไม่ทันการณ์ นอกจากนั้น ประเทศไทยควรดึงภาคเอกชนเข้ามาผ่านระบบ PPP (Public-Private Partnership) มากขึ้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากถูกโจมตีด้วยเชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) ได้ออกกฎหมายชื่อ BARDA เพื่อให้ระดมกำลังผลิตวัคซีนและยาแบบเร่งด่วนได้เมื่อประเทศเผชิญภัยพิบัติจากโรคติดเชื้อหรือการคุกคามจากการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ ภายใต้กฎหมายนั้น รัฐบาลกลางสามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่บริษัทผู้ผลิตยาสร้างกำลังการผลิตไว้ล่วงหน้า โดยในยามคับขันบริษัทเหล่านั้นต้องพร้อมผลิตยาและวัคซีนตามที่รัฐบาลร้องขอ

 

“เราเคยคิดว่าวิกฤตเล็ก ๆ ดีเพราะมันจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เรา แต่สิ่งที่เราเห็นหลังการระบาดของCOVID-19 มันไม่เป็นเช่นนั้น เราต้องยอมรับว่าภาครัฐรับมือกับเรื่องนี้โดยลำพังไม่ได้เขาว่าประเทศไทยสามารถมีระบบจัดสรรงบประมาณที่สร้างสรรค์และยืดหยุ่นกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อีก เราควรจะต้องมีระบบที่ดีที่สามารถนำไปปรับใช้ในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า” ดร.นเรศกล่าวในตอนท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ