คอลัมนิสต์

เบื้องลึกม็อบ เป้าอยู่ที่นายกฯหรือไปต่อที่สถาบัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบื้องลึกม็อบ เป้าอยู่ที่นายกฯหรือไปต่อที่สถาบัน

 


จากการประชุม ครม.เมื่อวานนี้ ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะยอมถอยหลายก้าวโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญและการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


ท่าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้การชุมนุมเลยเถิดมากไปกว่านี้ เพราะนั่นหมายถึงสถานการณ์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกระทบกระทั่งนำไปสู่การปะทะกันจะทำให้เสียเลือดเนื้อ

 

ดูจากการใช้รถฉีดน้ำ น้ำสี และน้ำผสมแก๊สน้ำตา ฉีกใส่ผู้ชุมนุม จุดนี้ทำให้นำไปขยายผลและมีการกระจายข่าวออกไปทั่วโลกว่า รัฐบาลใช้ความรุนแรง มันทำให้นานาชาติเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการชุมนุมในประเทศไทย อันจะทำให้สถานะของรัฐบาลตกเป็นรอง


ดังนั้นนายกฯ จึงมีดำริเพื่อเป็นการแก้เกม ทั้งยุทธวิธีในการจัดการผู้ชุมนุม และการเมืองระหว่างประเทศ ที่แน่นอนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังม็อบ ต้องการที่จะให้นานาชาติเข้ามากดดันรัฐบาลไทย


อย่างไรก็ตาม การเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้นำปัญหาไปพูดคุยไปอภิปรายกันนั้น ไม่น่าจะใช่ทางออกทั้งหมด เนื่องจากการชุมนุมของม็อบได้เลยจุดนั้นมาแล้ว


และยิ่งไปดูข้อเรียกร้องล่าสุด 3 ข้อ  ของคณะประชาชนปลกแอก คือ หยุดดำเนินคดี ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 


ส่วนข้อเรียกร้องของอีกของกลุ่มราษฎร63  ก็คือ นายกฯลาออก แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และปฏิรูปสถาบัน


ม็อบมีหลายกลุ่มข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงรายวัน รัฐบาลจะเลือกเอาข้อเรียกร้องฝ่ายไหน เดิมเวลามีม็อบที่มีแกนนำ ฝ่ายรัฐบาลสามารถตั้งตัวแทนมาพูดคุยได้ว่า จะเอาอย่างไร แต่ครั้งนี้ บางกลุ่มมีแกนนำ บางกลุ่มไม่มี และบางกลุ่มแกนนำไม่ได้เปิดเผยตัว เลยทำให้เจรจากันยากเพราะแกนนำมีหลากหลาย ข้อเรียกร้องก็ผันแปรไปตามสถานการณ์ ซึ่งยากต่อการเจรจา


มีคำถามว่า หากนายกฯลาออกแล้ว จะจบหรือไม่ คำตอบคือเมื่อนายกฯลาออก ตามกติกาเดิม รัฐธรรมนูญเดิม ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้นำร่างของประชาชนมาเป็นร่างหลักในการแก้ไข ก็ไม่ใช่แนวทางของรัฐบาล นายกฯคงยอมไม่ได้เพราะร่างของประชาชนที่เสนอมาโดยกลุ่มไอลอว์นั้น เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับซึ่งรวมถึงหมวด1 และหมวด2 ด้วย


ขณะที่นายกฯมีความต้องการให้สภาเร่งพิจารณานำร่าง 6 ฉบับ  เข้าโหวตในสภา แต่ว่าร่างของฝ่ายค้านและร่างของรัฐบาล ไม่แตะหมวด1 และหมวด2  นี่จึงเป็นความแตกต่างที่ชัดเจน

และที่ชัดเจนมากกว่านั้นคือผู้นำทางความคิดของม็อบ คือ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ยังเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งแนวคิดนี้ต้องการลดทอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง จะใช่โมเดลแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่สถาบันไม่มีอำนาจทั้งทางตรงทางอ้อม โดยนิตินัยและพฤตินัยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมด รัฐบาลคงไม่ยอม


ดังนั้น  เมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องและทางปฏิบัติที่จะเป็นไปได้แล้ว  จึงไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้ เป้าของม็อบจริงๆ ไม่ได้หยุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป้าอยู่ที่สถาบัน


เหมือนคำพูดที่ว่า ขอให้จบที่รุ่นเรา และสานต่อเจตนารมณ์คณะราษฎร2475 ให้จบสิ้น เหล่านี้คือสัญลักษณ์ของความต้องการที่แท้จริงของการชุมนุมในครั้งนี้

 

เบื้องลึกม็อบ เป้าอยู่ที่นายกฯหรือไปต่อที่สถาบัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ