คอลัมนิสต์

จับตา ปชป.-ภท. จะ"เท" พปชร.เอาตัวรอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา ปชป.-ภท. จะ"เท" พปชร.เอาตัวรอด

 

ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ในการประชุมครม.วันนี้ มีคนเสนอให้ นายกฯและครม.ผ่าทางตันด้วยการเสนอเปิดประชุมเพื่ออภิปรายโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา165

 


เนื้อหาของมาตรานี้บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้”

 


ความจริงต้นเหตุของปัญหาไม่ได้มาจาก ครม.เพียงฝ่ายเดียวแต่มาจากสภานิติบัญญัติด้วย นับแต่การซื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุม


ในเบื้องต้นทั้งรัฐบาลและ ส.ว.ต่างประเมินผิดคิดว่าม็อบไม่น่าจะมีการขยายตัว พูดง่ายๆ คือม็อบไม่มีทางจุดติดด้วยเงื่อนไขเพียงเท่านี้ แต่การที่รัฐบาลและ ส.ว.พยายามทุกวิถีทางในการซื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปด้วยการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาชุดแล้วชุดเล่า


นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความไม่พอใจขยายวงออกไปยิ่งขึ้น ยิ่ง กมธ.ที่ศึกษา 30 วันขอขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน  ยิ่งเป็นการเติมเชื้อฟืนใส่ไฟกว่าเดิม


ด้วยเหตุนี้การที่รัฐบาลเพิ่งจะมาเสนอให้เปิดสภาเพื่อหาทางออกตามรัฐธรรมนูญมาตรา165  เห็นว่าไม่น่าจะยุติการชุมนุมลงได้ เนื่องจากฝ่ายค้านทราบดีว่าการใช้สภาไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลได้ มีทางเดียวคือเล่นเกมนอกสภานั้นคือลงถนน


ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลเอง ต่างมองเกมออกว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่การชุมนุมธรรมดา มีหลายอย่างที่ไปเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ ฉะนั้นจึงเกิดการชิงการนำทางการเมือง เรียกง่ายๆ คือเอาตัวรอดทางการเมือง


ก่อนหน้านี้ ช่วงที่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีพรรคภูมิใจไทย ที่ออกอาการชิงธงนำเรียกคะแนนก่อนเพื่อน ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพลังประชารัฐ พรรคแกนนำนั้นไม่ต้องพูดถึง ยังเอื่อยเฉื่อยอยู่เหมือนเดิม


ล่าสุดพรรคภูมิใจไทยก็ประกาศจุดยืนนำไปก่อนทั้งการจงรักภักดีต่อสถาบัน การแก้รัฐธรรมนูญและการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ตามด้วยการแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐก็ยังช้าอีก

ประกอบกับมีการเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย แสดงจุดยืนไม่เอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ สถานการณ์เช่นนี้จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคไหนจะชิ่งดีดตัวเองออกจากพรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ


หากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ถอนตัว หนทางเดียวที่นายกฯจะต้องเลือกคือยุบสภาไปเลือกตั้งใหม่ แต่การชุมนุสมน่าจะไม่ยุติเนื่องจากไม่ยอมรับกติกาเก่า 


ดังนั้นการเมืองในห้วงสัปดาห์นี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง 

 

จับตา ปชป.-ภท. จะ"เท" พปชร.เอาตัวรอด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ