คอลัมนิสต์

"ประยุทธ์" ออกไป แล้วใครจะเป็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ประยุทธ์" ออกไป แล้วใครจะเป็น : วิเคราะห์การเมือง


ในวิกฤติมีโอกาส เป็นคำกล่าวที่มักจะนำมาใช้กัน แต่ในทางการเมือง หากมีวิกฤติแล้วไม่มีทางออกหรือหาทางออกไม่ได้ เขาเรียกว่า ถึงทางตัน


การเมืองไทยถึงทางตันหรือยัง ต้องบอกว่ายัง แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ข้อเรียกร้องของม็อบคณะราษฎร ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ชัดเจน บางข้อกลับย้อนแย้งกันเอง

 


แต่ว่าเอาที่ชัดเจนที่มีการตะโกนไล่ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯลาออก หากนายกฯลาออกแล้วอะไรจะตามมา ใครจะเป็นนายกฯ


ฉะนั้นหากจะว่ากันตามข้อเรียกร้องของม็อบก็คือเมื่อนายกฯลาออก ยังไงก็ต้องโหวตเลือกนายกฯใหม่ และการจะโหวตเลือกนายกฯก็ยังต้องใช้กติกาเดิมจะเป็นการยอมรับได้หรือไม่เนื่องจากกติกาเดิมยังไม่ได้แก้


อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่ลาออก สมมุติว่านายกฯลาออก ก็ไปเข้ารัฐธรรมนูญมาตรา182 จะทำให้คุณสมบัติของนายกฯสิ้นสุดลง และทำให้ครม.ทั้งคณะสิ้นสุดลงตามไปด้วย 


ลำดับต่อมาคือ สภาจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยสส.จะต้องเสนอชื่อคนจะเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเหมือนเดิม


เพราะในมาตรา159 กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีสส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ5เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา88


ขั้นตอนการเลือกนายกฯอยู่ในมาตรา272 แน่นอนว่า มาตรานี้อยู่ในข้อเรียกร้องและในญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่าต้องการนปิดสวิตซ์สว. ไม่ให้สว.มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ เพราะมาตรานี้ให้สิทธิ์สว.โหวตเลือกนายกฯได้ใน5ปีแรก


และเมื่อดูที่ต้นเหตุของปัญหาแล้ว การที่ม็อบไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ นั้นหมายถึงสภาจะต้องเสนอชื่อคนอื่นที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องไปดูว่ารายชื่อที่มีอยู่ของพรรคการเมืองมีใครบ้าง หากไม่เป็นที่ยอมรับ สมาชิกสองสภาต้องเข้าชื่อกันเพื่อยกเว้นการเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง เพื่อข้ามไปเลือกนายกฯคนนอก


และนายกฯคนนอกนี้ ส.ว.ยังมีสิทธิ์ในการเลือกนายกฯอยู่ จะทำให้ม็อบไม่พอใจ ฉะนั้นมองว่า วิธีการดังกล่าวจึงไม่สามารถจะเดินหน้าหรือคลี่คลายสถานการณ์ได้


หรือกระทั่งหากได้นายกฯใหม่ ครม.ที่มาจากพรรคการเมือง หากเป็นขั้วเดิม จะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับอีก การชุมนุมก็จะไม่ยุติลง 
 

และแม้นว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภา จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อนำญัตติการชุมนุมเข้าไปหารือในสภา ก็ไม่ตอบโจทย์เนื่องจากความต้องการของม็อบนั้น ผ่านจุดนั้นมาแล้ว นับแต่สภามีมติให้ศึกษารัฐธรรมนูญก่อนจะมีการลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ร่าง


สุดท้ายก็มาถึงคำถามว่า เมื่อไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกก็ยังหาทางออกหรือหาคำตอบไม่ได้ว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ เพราะในกติกาเดิมเป็นกติกาที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมรับ 


หรือกระทั่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ก็ไม่แน่ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะยุติการชุมนุม นั่นหมายความว่า การเมืองเดินมาถึงทางตันแล้ว

 

"ประยุทธ์" ออกไป แล้วใครจะเป็น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ