คอลัมนิสต์

ย้อนเวลาดูเลือกตั้งท้องถิ่นไทย ทำไม..การโกงยังคงอยู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระฆังศึกเลือกตั้งท้องถิ่นดังขึ้น เมื่อครม.ไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยจะประเดิมจากเลือกตั้ง อบจ. แต่เมื่อย้อนเวลาดูเลือกตั้งท้องถิ่นไทย คำถามคือทำไม..การโกงยังคงอยู่ ข้อมูลจาก ป.ป.ช.พบว่าการทุจริตในประเทศร้อยละ50 เกิดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ชัดเจนแล้วว่าธันวาคมนี้จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเว้นว่างมานานนม....
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยนั้น  มีทั้งหมด 7,850 แห่ง ประกอบด้วย

•    องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง
•    เทศบาล 2,469 แห่ง แบ่งเป็น
•    เทศบาลนคร 30 แห่ง
•    เทศบาลเมือง 192 แห่ง
•    เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
•    องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง
•    และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานคร-พัทยา)
 ภายใต้งบประมาณรายจ่าย ปี 2564 “9.2 หมื่นล้านบาท”

ครม.ไฟเขียวประเดิมที่สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)76จังหวัด  ซึ่งรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เคาะอีกทีซึ่งตาม"ไทม์ไลน์"อาจจะเลือกตั้งกันวันที่ 13 ธันวาคม หรือ 20 ธันวาคม  2563 แต่น่าจะเป็นวันที่ 20 ธันวาคมมากกว่า เนื่องวันที่ 13 ธันวาคม เป็นช่วงวันหยุดยาวที่ประชาชนจะเดินทางไปพักผ่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

จากนั้นก็จะเป็นการเลือกตั้งเทศบาล,อบต. ซึ่งตาม"ไทม์ไลน์" จะเป็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564  จากนั้นเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและผู้ว่าฯ กทม. ช่วยเดือนเมษายน ปี 2564                                                  

เมื่อสนามอบจ.คือสนามแรกนั้น สนามนี้สามารถพูดได้เลยว่าเกี่ยวโยงกับการเมืองสนามใหญ่เต็มสูบ หากผู้สมัครคนใดสวมเสื้อพรรคการเมืองที่มีแต้มบวกในช่วงเวลานั้นๆโอกาสจะคว้าชัยก็มีเกินครึ่ง บางพื้นที่ก็แข่งขันกันระหว่างคนในพรรคเดียวกันเอง ดังนั้นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นนี้มีการแข่งขันที่ดุเดือดไม่แพ้เวที ส.ส. 

อย่าลืมว่า บางพื้นที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันแทบทุกเครือข่าย  พูดง่ายๆบางตระกูลในบางจังหวัด โดนเรียกว่า”บ้านใหญ่” เพราะพ่อ-แม่-ลูก-ญาติพี่น้อง ต่างมีตำแหน่งแห่งหนกันครบถ้วนในทุกตำแหน่งการเมือง จนหลายคนไม่กล้าอาสาชาวบ้านเพราะรู้ว่าลงไปแข่งขันก็ยกธงขาวรอได้เลย!

บางพื้นที่มีการจับมือร่วมพัฒนาท้องถิ่นแบบชัดเจน แต่อีกหลายพื้นที่พบว่ามีการจับมือกันทุจริตกันเป็นขบวนการ
ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)พบว่า การทุจริตในประเทศนั้นร้อยละ50เกิดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยป.ป.ช.กำลังเร่งเคลียร์คดีคงค้างให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว...

ข้อมูลบ่งชี้การทุจริตในท้องถิ่นนั้น เกิดจากการนำนโยบายที่หาเสียงไปจัดทำโครงการโดยใช้งบประมาณมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม  ตรงนี้เองอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ใครหลายคนอยากเข้าสู่วังวนแห่งอำนาจในพื้นที่ เพราะเมื่อสัมผัสอำนาจได้ก็จะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างผลงานให้ชาวบ้านเชื่อถือ

แต่...หลายโครงการที่เกิดขึ้นนั้น ปรากฏข่าว”การจับทุจริต-การฮั้วประมูล-เงินทอน-ฆาตกรรม”กันเนืองๆ 

แม้กติกาใหม่ที่ใช้ปราบโกงของเมืองไทยจะมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นและเอาผิดย้อนหลังได้แม้ผู้มีส่วนร่วมจะสิ้นลมหายใจไปแล้วก็ตาม...แต่คดียังต้องตัดสินความผิดนั้นๆให้ถึงที่สุดและจะปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ใช่ว่าจะมีการเกรงกลัวเสียเมื่อไหร่..แม้สุดท้ายผลกรรมจะชี้เจตนาดังกล่าวของคนการเมืองท้องถิ่นบางส่วนที่ร่วมขบวนการมิชอบ

ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายทั้งที่เป็นกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาจำคุก อดีตนายก อบจ. ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ ,บางคดี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายก อบจ. ตามที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกินเงินส่วนต่างการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด -19, บาง อบจ. นายก อบจ. ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ตามที่มีการกล่าวหาว่ามีการฮั้วประมูลโดยเรียกรับเงิน 8 -9 % ของโครงการ

สนามท้องถิ่นนั้น บางพื้นที่ยังเกิดการทุจริตข้ามชาติได้ แม้กระทั่ง กทม.ในอดีตก็เคยเกิด"คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง" มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาทและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ตัวอย่างคดีข้างต้นที่ยกมาไล่เรียงให้เห็นบางด้านของการเมืองท้องถิ่นนั้น ผู้ที่โดนพาดพิงก็ต้องไปพิสูจน์สิทธิและความบริสุทธิ์ในชั้นศาลกันเอาเอง

และขอให้เป็นอุทาหรณ์กับผู้ที่จะอาสาพัฒนาท้องถิ่นคราวนี้ว่า หากไปร่วมในเรื่องมิชอบแล้ว มิอาจหนีกรรมไปได้

10.10 SALE ระเบิดราคา ลดแล้วลดอีก ลาซาด้า คลิกเลย

ย้อนเวลาดูเลือกตั้งท้องถิ่นไทย ทำไม..การโกงยังคงอยู่
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ