คอลัมนิสต์

อะไรคือความจริง.. พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้มีแต่'อนาคตใหม่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกต.ชี้ว่า 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่ผิด แต่พรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพราะกู้เงิน"ธนาธร"  จึงมีเสียงวิจารณ์และพูดเชิงประชดประชันว่า"พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้.มีแต่"อนาคตใหม่"แต่ความเป็นจริงคืออะไร เป็นการพูดความจริงไม่หมดหรือไม่

 กรณี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นชอบตามที่สำนักงานเสนอให้มีการยุติเรื่องตรวจสอบกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบว่า พรรคการเมืองจำนวน 31 พรรคการเมือง มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งมีโทษยุบพรรค เช่นเดียวกับที่มีการยุบ"พรรคอนาคตใหม่" หรือไม่

ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบงบการเงินทั้ง 31 พรรคการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2560 - 2562 ของ กกต.พบว่า ทุกพรรคมีการกู้ยืนเงินหรือยืมเงินทดรองจ่ายดังกล่าว จากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เกิน 10 ล้านบาท/คน/พรรค/ปี 

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินดังกล่าวของทั้ง 31 พรรค ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

 "ปิยบุตร แสงกนกกุล" อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่า กกต.วินิจฉัยโดยไม่ได้ใช้บรรทัดฐานเท่าเทียมกัน 

 หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าพรรคการเมืองกู้เงินไม่ผิด ก็ไม่ผิดกันทั้งหมดทุกพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ 

 ทั้งนี้ในความเห็นของ"ปิยบุตร" ซึ่งเคยเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ บอกว่าตนเองยืนยันมาโดยตลอดว่า กฎหมายปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้พรรคการเมืองกู้เงินและพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน หากจะห้ามพรรคการเมืองกระทำการใดก็ต้องมีกฎหมายเขียนเอาไว้ หากกฎหมายไม่ได้ห้ามอย่างชัดแจ้ง แสดงว่าเป็นเสรีภาพของพรรคการเมืองที่สามารถเลือกที่จะกระทำการใดก็ได้ 

ดังนั้นตามความเห็นของ" ปิยบุตร"ทุกพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้และจะกู้เงินเท่าไหร่ก็ได้  

และชี้ว่า แต่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ พยายามจะอธิบายเรื่องการกู้เงินและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าเป็น “การให้ประโยชน์อื่นใด”

จึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดห้ามให้และรับจากบุคคลเกิน10 ล้านบาทตาม ม. 66 วรรคสอง พ.ร.ป.พรรคการเมือง  พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10ล้านบาทต่อปีมิได้ 
 
"ผมเห็นว่าทุกพรรคการเมืองที่กู้เงินไม่ถือว่ามีความผิดเลย กกต. ไม่ควรวินิจฉัยอย่างนี้ แต่ควรต้องวินิจฉัยว่า ไม่ว่าจะเป็น31 พรรคการเมืองหรือพรรคอนาคตใหม่ไม่มีความผิดเลยทั้งนั้นและถ้าหากเห็นว่าการกู้เงินเป็นปัญหา ในอนาคตก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อระบุให้ชัดว่าไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงินหรือถ้าจะให้กู้ ต้องระบุเลยว่ากู้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ไม่ใช่ว่ากฎหมายคลุมเครือแบบนี้ แล้วตีความเอาโทษเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เอาโทษ "

และหลังจาก กกต. มีคำวินิจฉัยออกมาว่า 31 พรรคการเมืองกู้เงินไม่ผิด แต่พรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพราะกู้เงิน"ธนาธร" จึงมีเสียงวิจารณ์และพูดเชิงประชดประชันว่า "พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้ มีแต่พรรคอนาคตใหม่"

แต่ในความเป็นจริงคืออะไร  เป็นการพูดความจริงไม่หมดหรือไม่  

เพราะหากพิจารณาดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็จะเห็นว่า การกู้เงินของ"อนาคตใหม่"มีความผิดปกติอยู่หลายประการ จนน่าสงสัยว่ามีการกู้เงินกันจริงหรือไม่หรือว่าเป็นแค่ "นิติกรรมอำพราง"

-งบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ปี 2561 มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เพียง 1.4 ล้านบาท คือมีหนี้แค่ 1 ล้านกว่าบาท แต่เพราะเหตุใดถึงทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธรถึง 191 ล้านบาท

-การชำระหนี้ครั้งแรกในวันที่ 4 มกราคม 2562 คืนเงินสดจำนวน 14 ล้านบาทหลังทำสัญญากู้เงินเพียง 2 วัน จึงผิดปกติ

-สัญญากู้เงินฉบับที่ 2 รับเงินเพียง  2.7 ล้านบาท จากที่ทำเรื่องกู้ 30 ล้าน  

-มีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า คิดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมากร้อยละ 2 เท่านั้น

-ให้กู้เงินใหม่ทั้งที่มีเงินกู้เดิมค้างอยู่ ไม่เป็นไปตามปกติการค้าและปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน

-ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าการทำสัญญาเงินกู้ดังกล่าวมีพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ ช่วยเหลือ"พรรคอนาคตใหม่"เป็นกรณีพิเศษ ไม่เป็นปกติในทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยในการให้กู้เงิน และการชำระหนี้เงินกู้ยืมและการคิดดอกเบี้ย ก็ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า

- จึงถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่และเมื่อรวมเงินกู้ยืมจำนวน 191.2ล้านบาท กับเงินที่นายธนาธรบริจาคให้กับพรรคเมื่อปี 62 จำนวน 8.5ล้านบาท ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสองของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง  พ.ศ. 2560

-จากข้อเท็จจริงพฤติการณ์เห็นว่าการที่นายธนาธรให้เงินกู้พรรคอนาคตใหม่ เข้าข่ายเป็นการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และการที่นายธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินจำนวนมาก กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ควรที่จะรู้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใด ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำ ชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ โดยอาศัยอำนาจแห่งหนี้นั้น มาเป็นผู้บงการ ครอบงำพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว อันส่งผลให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง

-การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเข้าข่ายการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นตามมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคดังกล่าวต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มามิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 72  อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงที่มีการทำสัญญากู้เงินเป็นเวลา 10 ปีได้

สรุป ก็คือ การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะผิดปกติไปจากการกู้เงินตามปกติและการกู้เงินดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเข้าครอบงำพรรคได้ ในขณะที่ 31 พรรคการเมืองที่รอดจากการถูกยุบพรรค สัญญากู้เงิน เป็นไปตามปกติทั่วไป และไม่มีพรรคการเมืองใดแม้แต่พรรคการเมืองเดียวกู้เงินถึง 10ล้านบาทในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธร เกิน 10 ล้านบาท

นี่คือ ความต่างระหว่าง 31 พรรคการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ