คอลัมนิสต์

ปรับ ครม. ทั้งที เอาดี ๆ หน่อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรับ ครม. ทั้งที เอาดี ๆ หน่อย โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทีมเศรษฐกิจ ครม. ใหม่” โดยผลการสำรวจที่ออกมาไม่ได้เหนือความคาดหมายและก็ไม่แตกต่างใด ๆ จากการวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าสื่อทั้งกระแสหลักและ social media ซึ่งผลที่ออกมาคือคนไทยส่วนใหญ่ต้องการคนนอกพรรคการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งทั้ง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หรือ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ร้อยละ 55.33) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ร้อยละ 51.59) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ร้อยละ 48.17) ในขณะที่การสนับสนุนนักการเมืองมาคุมงานด้านเศรษฐกิจในตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ร้อยละ 23.45 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ที่ ร้อยละ 25.52 และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ที่ ร้อยละ 27.11

เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกพบว่าทุกกลุ่มภูมิภาค อายุ การศึกษา อาชีพและรายได้ สนับสนุนคนนอกพรรคการเมืองเข้ามาคุมงานเศรษฐกิจของประเทศ โดยกลุ่มที่แสดงการสนับสนุนคนนอกพรรคการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งสามตำแหน่ง ที่มีอัตราส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก คือกลุ่มคนกรุงเทพ กลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 26 – 35 ปี กลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี กลุ่มข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้ทำงานบริษัทเอกชน กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป 

สรุปสั้น ๆ คือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมาคุมงานด้านเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศ ฉะนั้นการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมีความระมัดระวังไม่ให้มีเสียงยี้ตามมาภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องคำนึงถึงเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพราะการเมืองในเชิงปริมาณนั้น หากขาดเสียงสนับสนุนในสภาหรือหากเกิดกบฏในกลุ่ม สส. ฝ่ายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ก็ไม่สามารถอยู่ได้และอาจต้องลาออกหรือยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่
เมื่อตรวจสอบดูรายชื่อผู้คนนอกพรรคการเมืองที่คาดว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคุณปรีดี ดาวฉาย ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีข้อสงสัยใด ๆ หรือมีเสียงยี้ตามมา แม้ว่าอาจจะไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปก็ตาม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็คงคิดว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐมนตรีใหม่ในกระทรวงเศรษฐกิจทั้งสองคนไม่ใช่นักการเมือง ก็น่าจะบริหารงานเศรษฐกิจโดยปราศจากแรงกดดันหรือผลประโยชน์ทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
การที่พลเอกประยุทธ์สามารถบรรลุความตั้งใจในการเอาคนนอกพรรคการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้นั้น ต้องบอกว่าเป็นการใช้กลยุทธ์ทางการเมืองที่ 3 ป. ดำเนินการได้อย่างเป็นขั้นตอน ในการกดดันกลุ่ม 2 ส. คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน และกลุ่มอื่น ๆ ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยอมถอยและปล่อยให้การปรับ ครม. เป็นอำนาจของนายก ฯ

แต่นายกพลเอกประยุทธ์เองก็ยอมถอยก้าวหนึ่งด้วยการแบกหน้าไปเจรจากับกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ยอมแลกกระทรวงแรงงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คนใหม่จะได้ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งบุคลากรในวงการอุดมศึกษา ค่อนข้างพอใจในตัวเลือกนี้มากกว่าที่จะได้ นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการ พปชร. หรือ นายสุชาติ ชมกลิ่นรองหัวหน้า พปชร. รวมถึงนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล
ส่วน นายอนุชา และ นายสุชาติ จะได้ตำแหน่งใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชาชนก็อาจจะไม่ค่อยสนใจมากนักเพราะเข้าใจดีว่าเป็นการแบ่งปันอำนาจตามการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งแล้วก็ควรทำงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็แล้วกัน

ในขณะที่อีกหนึ่งคนที่ข่าวยังสับสนว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ หรือเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงใดคือ นางนฤมล ซึ่งไม่ว่าจะได้รับตำแหน่งใดก็ตามใน ครม. รับรองได้ว่าจะเป็นเป้าในการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในกลุ่มรัฐมนตรีใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ นักวิชาการ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ขนาดแค่มีข่าวว่าจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ พปชร. ก็โดนถล่มและถูกตั้งคำถามมากมายในเรื่องความสามารถและความเหมาะสม เช่น นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความสงสัยว่าจะไหวหรือ “เพราะถ้าพิจารณาจากการที่นางนฤมลที่ทำหน้าที่โฆษกของรัฐบาลเป็นเวลา 1 ปีเศษ การทำงานที่ปรากฏต่อสาธารณชนก็คือไม่ต่างจากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีโฆษก”
แม้กระทั่ง ผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.44 ระบุว่านางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐเพราะ ยังขาดประสบการณ์การทำงานทางด้านเศรษฐกิจ ผลงานยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร และการทำงานยังสู้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิมไม่ได้ โดย ล่าสุดนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกมาเตือนพลเอกประยุทธ์เรื่องการสนับสนุนให้ นางนฤมล เป็นรัฐมนตรี ว่าจะทำให้สังคมจะตั้งคำถามและหัวเราะเยาะอย่างสิ้นหวังและจะสร้างความไม่พอใจในกลุ่ม สส. พปชร. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส. แบบเขต ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเองและของพรรค ฯจนทำให้ไม่มีเวลาเดินตามผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อความก้าวหน้าทางการเมือง แต่ในทางตรงกันข้ามสส. สมัยแรกที่ไม่มีผลงานและไม่มีเสียง สส. สนับสนุนในพรรค ฯ แต่ผู้ใหญ่ในพรรคเห็นหน้าบ่อย ๆกลับได้ดี ได้เป็นรัฐมนตรี นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีคำวิจารณ์ที่เกี่ยวกับผลงานการเป็นโฆษกรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีส่วนที่ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และกลุ่มสี่กุมาร ต้องออกจากรัฐบาลและ พปชร. ทั้ง ๆ ที่เคยอุ้มชูกันมาก่อน

รับรองได้เลยว่าในการปรับ ครม. ครั้งนี้ หากมีชื่อรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถและความเหมาะสม กระแสวิพากษ์วิจารณ์จะยาวเป็นหางว่าว แน่ ๆ ผู้สนับสนุน ทั้งหลายก็อย่าลืมแจกพระรอดให้รัฐมนตรีหน้าใหม่และนายกรัฐมนตรีด้วยก็แล้วกัน...หวังว่าคงอยู่รอดครบเทอมนะ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ