คอลัมนิสต์

ยุบสภาคือความเสี่ยงของทุกฝ่าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุบสภาคือความเสี่ยงของทุกฝ่าย โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

จากการที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเรื่องการยุบสภาของสิงคโปร์ ทำให้นักการเมืองจากทุกฝ่ายรุมกระหน่ำ ดร.สมคิด แบบไม่ยั้ง บงคนบอกว่า ดร.สมคิดอยากเป็นนายกรัฐมนตรีเองจึงอยากยุบสภา ส่วนคนในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บางคนถึงขนาดออกมาไล่ให้ออกไปจากตำแหน่งรองนายก ฯ อย่างไรก็ตาม บางกระแสก็บอกว่า ยุบสภาไปเลยก็ดี เพราะจะได้ช่วยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องยุ่งยาก ลำบากใจจากแรงกดดันภายใน พปชร. ที่ต้องการให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)

แต่หากนายก ฯ ตัดสินใจยุบสภาจริง ใครจะได้เปรียบ-เสียเปรียบ? คำตอบคือ เป็นความเสี่ยงของทุกฝ่าย โดยหากใช้ข้อมูลผลโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เรื่อง “การสำรวจความความนิยมทางการเมืองรอบไตรมาส ครั้งที่ 2” เป็นฐานในการวิเคราะห์ จะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.06 บอกว่ายังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ในขณะที่ร้อยละ 32.38 บอกว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย โดยร้อยละ 45.99 ของผู้ที่บอกว่า ยังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายก ฯ ไม่ได้ จะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย ในขณะที่ร้อยละ 62.58 ของผู้ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย บอกว่ายังหาผู้ที่เหมาะสมเป็นนายก ฯ ไม่ได้ซึ่งหมายถึงทุกพรรคการเมือง และ คู่แข่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากทุกพรรคการเมืองกำลังอยู่ในความเสี่ยงของความไม่แน่นอนในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนหากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในวันนี้ เพราะไม่รู้ว่าผู้คนกลุ่มนี้จะสนับสนุนใครหรือพรรคการเมืองใด แต่ถ้ามองในแง่ดี ตรงนี้คือช่องว่างที่ทุกพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า และทุกฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ตรงนี้ได้ ซึ่งก็คงจะขึ้นอยู่กับว่าใครจะมียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางการเมืองที่ดีกว่ากัน

ความเสี่ยงทางการเมืองหากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่นั้น รวมถึงความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นนายก ฯ ของพลเอกประยุทธ์ด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าพลเอกประยุทธ์จะมี พรรค สว. (สมาชิกวุฒิสภา) 250 เสียงรองรับการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากในสภาผู้แทนราษฎรได้เสียงไม่ถึง250 ก็อาจจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือแย่สุดคือไม่ได้เป็นนายก ฯ ต่ออีกสมัยหากเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทน ฯ มีน้อยมาก นอกเหนือจากนั้นแล้ว อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการต่อต้านของประชาชนที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน (อายุ 18 – 25) และนักเรียน/นักศึกษา ที่อาจถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามยั่วยุให้ลงถนนมาต่อต้านการกลับมาของพลเอกประยุทธ์ก็เป็นได้

ลองมาพิจารณาความเสี่ยงของแต่พรรคการเมือง หากมีการยุบสภา ขอเริ่มจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ผลการสำรวจพบว่ามีความนิยมมากที่สุด (หากไม่นับรวมผลที่คนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.38 บอกว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย) โดย พท. ได้คะแนนนิยมที่ร้อยละ 20.70 ซึ่งหากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็คาดได้ว่า พท. จะได้จำนวน สส. มากที่สุดในสภา แต่ก็จะสูสีกับ พปชร.  แต่หากมี สส. และสมาชิกพรรค ฯ บางส่วนตัดสินใจย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ๆ ตามข่าวที่ว่ามีจำนวนงูเห่าไม่น้อยอาศัยอยู่ในพรรค ฯ ก็อาจจะทำให้ได้ สส. ลดลงก็เป็นได้ หรือเลวร้ายที่สุดคือการพ่ายแพ้ให้กับ พปชร.  

ในขณะเดียวกัน พท. กำลังเผชิญกับวิกฤติผู้นำพรรค ฯ เนื่องจากหัวหน้าพรรค ฯ อย่างนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไม่สามารถปั่นกระแสสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเองได้ ในขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ก็มีคะแนนนิยมสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง ร้อยละ 8.07 ซึ่งน้อยกว่าพลเอกประยุทธ์ที่ได้ถึงร้อยละ 25.47 และเมื่อดูข้อมูลเชิงลึกพบว่ามีเพียงร้อยละ 28.21 ของผู้ที่สนับสนุน พท. จะสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ให้เป็นนายก ฯ แต่ ร้อยละ 44.15 ของผู้สนับสนุน พท. กลับบอกว่ายังหาผู้สนับสนุนเป็นนายก ฯ ไม่ได้ ซึ่งอาจบอกเป็นนัยให้พรรค ฯ รีบหาผู้นำที่เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของผู้สนับสนุนพรรค ฯ ไม่เช่นนั้นเสียงสนับสนุนพรรค ฯ อาจไม่มั่นคงก็เป็นได้

ส่วนของ พปชร. ที่ผลโพลบอกว่าเป็นรอง พท. โดยได้ ร้อยละ 15.73 นั้นบอกได้อย่างเดียวว่าจำเป็นต้องเกาะกระแสพลเอกประยุทธ์ หากยังต้องการเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ พท. เนื่องจากเมื่อแตกข้อมูลออกดูพบว่า ร้อยละ 79.55 ของผู้สนับสนุน พปชร. จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ให้เป็นนายก ฯ ในขณะที่ร้อยละ 49.14 ของผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะสนับสนุน พปชร. แต่ที่สำคัญคือร้อยละ 25.74 ของผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์บอกว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย และร้อยละ 20.25 ของผู้ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งหมายถึงช่องที่ พปชร. จำเป็นต้องแทรกเข้าไปให้ได้โดยต้องถือธงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เพื่อให้ได้คะแนนสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้แต่หากพลเอกประยุทธ์บอกว่าไม่อยากเป็นนายก ฯ แล้ว หรือหาก  สส.  และสมาชิก พปชร. บอกว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์แล้ว ก็เตรียมโบกมือลา พปชร.  ได้เลย

ด้านพรรคน้องใหม่อย่างก้าวไกล ที่ไม่สามารถรับมรดกจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ได้ โดยพรรคก้าวไกลได้คะแนนสนับสนุนเพียงร้อยละ 13.47 ก็อาจบอกได้ว่ายังคงอยู่ในความเสี่ยงหากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะนอกเหนือจากพรรคก้าวไกลจะไม่มีส้มหล่นอย่างอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับคะแนนส่วนหนึ่งจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลก็ยังคงต้องเผชิญกับแฟนคลับกลุ่มสำคัญของอดีตพรรคอนาคตใหม่ (กลุ่มเยาวชน อายุ 18 – 25 และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา) ที่ตีตัวออกห่างจากผู้รับมรดกทางการเมืองของอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดยผู้คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถอยหลังไปตั้งหลักที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลยและยังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯไม่ได้ ในขณะที่เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกพบว่า ร้อยละ 23.01 ของผู้เลือกพรรคก้าวไกลจะสนับสนุนหัวหน้าพรรค ฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายก ฯ แต่มีถึงร้อยละ 52.21 ของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลบอกว่ายังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายก ฯ ไม่ได้ ซึ่งอาจหมายถึงพรรคก้าวไกลต้องเริ่มมองหาผู้นำพรรค ฯ คนใหม่ได้แล้ว และอาจรวมถึงปรับภาพพจน์และวิธีทำงานการเมืองของพรรคด้วย

สุดท้ายพรรคที่เก่าแก่ที่สุดอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูเหมือนว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากคะแนนนิยมของพรรค ฯ จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 7.75 และหัวหน้าพรรคอย่างคุณจุรินทร์ลักษณวิศิษฎ์ ก็ไม่มีคะแนนนิยม (สถานการณ์เดียวกับ หัวหน้า พท. ปัจจุบัน) แต่ที่สำคัญฐานเสียงในภาคใต้ของ ปชป. กำลังโดน พปชร. ค่อย ๆ บอนไซ ไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลเชิงลึกในอีกมุมหนึ่งพบว่า มีเพียงร้อยละ 6.67 ของผู้สนับสนุน ปชป. จะสนับสนุนคุณจุรินทร์ เป็นนายก ฯ แต่ร้อยละ 30.26 ของผู้สนับสนุน ปชป. บอกว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายก ฯ และร้อยละ 29.74 บอกว่ายังหาผู้สนับสนุนเป็นนายก ฯ ไม่ได้ ซึ่งทำให้ ปชป. ไม่ต่างอะไรกับ พท. และ ก้าวไกล คือกำลังเผชิญกับวิกฤติผู้นำพรรค แต่ ปชป.อาจลำบากมากกว่าหน่อยตรงที่หากฐานเสียงในภาคใต้แตก การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่จะกลายเป็นหายนะของพรรคประชาธิปัตย์ในทันที่

 

โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ