คอลัมนิสต์

ไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง  โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

ผลโพล ของนิด้าโพล เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2” ซึ่งนำเสนอเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา  มีหลายประเด็นที่น่าสนใจและผิดจากที่คาดการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับ “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1” ที่เสนอผลไปเมื่อ ปลายเดือนธันวาคม 2562 (ติตามผลการสำรวจทั้งสองครั้งได้จาก http://nidapoll.nida.ac.th/) ซึ่งคำถามจากการสำรวจทั้งสองครั้งคือ บุคคลใดที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และพรรคการเมืองใดที่ประชาชนสนับสนุนในวันนี้ 

 

อ่านข่าว...  "สิระ" เบรก"พิธา"อย่าใช้เวที"กมธ."เป็นเครื่องมือทางการเมืองหวังเพียงดิสเครดิตรัฐบาล
 


ผลสำรวจที่ได้ในข้อแรกคือ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.06 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ (ผลสำรวจครั้งที่หนึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 17.32) ส่วนในข้อที่สองก็ไม่ต่างกันเพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.38 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย (ผลสำรวจครั้งที่หนึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 13.46) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากที่อาจจะเบื่อหน่ายกับนักการเมืองและพรรคการเมืองในปัจจุบัน จึงขอถอยมาตั้งหลักก่อนค่อยตัดสินใจใหม่วันหลังหรือเมื่อมีทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่สามารถเฟ้นหานายกรัฐมนตรีที่โดนใจผู้คนจริง ๆ ได้ในขณะนี้ จึงทำให้อัตราส่วนการตอบว่ายังหาคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ สูงกว่าอัตราส่วนของผู้ที่บอกว่า ยังไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี (ร้อยละ 60.96) และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 62.16) มีอัตราส่วนสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่ไว้วางใจในผู้นำทางการเมืองคนใดเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้ามุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลว่าใครมีคะแนนนิยมสูงสุดตอนนี้ คำตอบคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ร้อยละ 25.47) รองลงมาคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทยที่ ร้อยละ 8.07 ในขณะที่พรรคการเมืองที่มีความนิยมสูงสุด คือพรรคเพื่อไทย (ร้อยละ 20.70) รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ (ร้อยละ 15.73) 


เป็นที่น่าสนใจว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้คะแนนนิยมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง ร้อยละ 3.93 ไม่สามารถสืบทอดมรดกคะแนนนิยมของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เคยได้คะแนนนิยมมาเป็นที่หนึ่ง (ชนะพลเอกประยุทธ์ ด้วย) ถึงร้อยละ 31.42 ในขณะที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ก็เคยได้คะแนนนิยมสูงสุดถึงร้อยละ 30.27 แต่เมื่อแปรสภาพมาเป็นพรรคก้าวไกล กลับได้รับคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 13.47 


เมื่อเจาะลึกลงไปดูในกลุ่มที่เคยเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญของนายธนาธรและอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็พบว่าทั้งนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ได้รับความนิยมอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ เช่น ในกลุ่ม ผู้มีอายุ 18 – 25 ปีที่นายธนาธรเคยได้ร้อยละ 63.41 แต่นายพิธาได้เพียงร้อยละ 6.42 (หายไป 56.99 %) และในหมู่นักเรียน/นักศึกษา นายธนาธรเคยได้ ร้อยละ 63.96 แต่นายพิธาได้เพียง ร้อยละ 5.41 (หายไป 58.55 %) ในส่วนของคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล พบว่าในกลุ่มผู้มีอายุ 18 – 25 ปี นั้นจากที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เคยได้ ร้อยละ 63.41 แต่พรรคก้าวไกลได้ ร้อยละ 26.74 ส่วนกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ที่เคยเป็นฐานคะแนนใหญ่ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ถึงร้อยละ 72.13 แต่พรรคก้าวไกลกลับได้รับมรดกมาเพียงร้อยละ 26.58 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆพรรคก้าวไกลก็ยังถือได้ว่ามีคะแนนนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 – 25 และ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา นอกเหนือจากนั้นแล้วพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ในกลุ่มผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 23.89 แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เคยได้ถึง ร้อยละ 43.54




หากจะวิเคราะห์ดูว่าอะไรทำให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมทางการเมืองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เหตุผลแรกอาจจะเกิดจากนายพิธายังไม่มีความโดดเด่นในบทบาททางการเมืองเหมือนนายธนาธรโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการปั่นกระแสทางการเมืองเพื่อกล่อมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีอายุ 18 – 25 กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา และกลุ่มผู้ทำงานบริษัทเอกชน ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้แสดงบทบาทที่เด่นในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน หรือมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับวนอยู่แต่เรื่องเดิม ๆ “เสรีภาพและเผด็จการ” 


เหตุผลข้อที่สองอาจจะเกิดจากกระแสความนิยมในอดีตพรรคอนาคตใหม่และเหล่าแกนนำที่ผ่านมาไม่ใช่ของจริง แต่เป็นเพียงแค่สถานการณ์ไฟไหม้ฟางที่ทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งแค่เดินตาม ๆ กันไป จนกระทั่งวันหนึ่งอาจพบความจริงบางอย่างว่า ที่แท้ก็เป็นแค่พรรคการเมืองที่มีความสามารถในการสร้างวาทกรรมเท่านั้นหรือผู้คนอาจค้นพบว่าแนวทางทางการเมืองของแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามดั้งเดิมของคนไทยตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จึงทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนถอยห่างออกมาและส่งผลกระทบอย่างแรงต่อทายาททางการเมืองอย่างนายพิธาและพรรคก้าวไกล 


เหตุผลอีกข้อหนึ่งอาจเกิดจากการเล่นการเมืองนอกสภาของแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคณะก้าวหน้าเพื่อเดินสายรณรงค์ทางการเมืองทั่วประเทศ การดำเนินการเหล่านี้แม้ว่าอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการแสดงออกว่าไม่อยากรับหรือไม่ยอมรับมติศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับวัฒนธรรมไทยที่ ส่วนใหญ่ท้ายที่สุดจะยอมรับคำตัดสินของศาลและยินดียกโทษให้กับผู้ที่แสดงตนและมีพฤติกรรมอย่างชัดเจนว่ายอมรับในคำสั่งศาล อย่างไรก็ตามหากแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่เลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ หลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง อาจทำให้ได้คะแนนสงสารและส่งผลที่ดีกว่านี้ต่อพรรคก้าวไกลก็เป็นได้


คราวนี้ลองมาวิเคราะห์พลเอกประยุทธ์และ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บ้าง โดยในส่วนของพลเอกประยุทธ์นั้น แม้ว่าผลโพล 1 ปี นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ที่มีการนำเสนอไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะพบว่ามีผู้คนที่มองว่านายก ฯ ทำงานได้ดีมากและค่อนข้างดีรวมกันแล้วสูงถึง ร้อยละ 51.52 แต่ก็ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ในขณะที่การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองนั้น เป็นการแข่งขันเปรียบเทียบกับผู้อื่น และนอกเหนือจากนั้นแล้ว การมองว่าที่ผ่านมานายก ฯ ทำงานได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เป็นนายก ฯ ต่อ จึงทำให้คะแนนนิยมในการสนับสนุนให้เป็นนายก ฯ อยู่ที่ร้อยละ 25.47 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความนิยมทางการเมืองครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่คะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ลดถอยลงอย่างมาก เหลือเพียง ร้อยละ 23.74 จะพบว่าคะแนนนิยมทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งอาจพอจะสรุปแบบคร่าว ๆ ได้ว่า พลเอกประยุทธ์มีแฟนคลับ (FC) ประจำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23 – 26 


เมื่อแตกข้อมูลในผลโพลเพื่อวิเคราะห์ว่า ใครสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พบว่าพลเอกประยุทธ์นั้น มีคะแนนนิยมสูงอย่างโดดเด่นในกลุ่มเดิม ๆ เช่น กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 47.79) กลุ่ม พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน (ร้อยละ 38.49) กลุ่มผู้ไม่มีรายได้ (ร้อยละ 31.13) กลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 30.14) กลุ่มผู้มีรายได้เกิน 40,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 31.11) กลุ่มผู้ที่มีการศึกษาไม่เกินประถมศึกษา (ร้อยละ 33.65) กลุ่มผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 33.59) และกลุ่มคนภาคใต้ (ร้อยละ 32.93) ในขณะที่จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดของพลเอกประยุทธ์ยังคงอยู่ที่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 – 25 ปี (ร้อยละ 8.02) กลุ่มผู้ที่มีอายุ 26 – 35 (ร้อยละ 13.51) กลุ่มผู้ที่มีอายุ 36 – 45 (ร้อยละ 14.09) กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 8.11) และ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน (ร้อยละ 11.50) 


ในขณะที่ พปชร. ที่มีคะแนนนิยมทางการเมืองที่ ร้อยละ 15.73 นั้นมีคะแนนโดดเด่นในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 28.50) และ กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน (ร้อยละ 21.08) แต่ที่น่าสนใจคือคะแนนนิยมของ พปชร. ในเขตภาคใต้ที่ได้ร้อยละ 18.56 ซึ่งน้อยกว่าอันดับหนึ่งในภาคใต้อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ 20.66) เพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสามกลุ่มที่สนับสนุน พปชร. อย่างโดดเด่นเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ (สงสัย พปชร. ต้องเกาะกระแสพลเอกประยุทธ์ไปเรื่อย ๆ) ในขณะที่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ความนิยมทางการเมืองของพปชร. อยู่ที่ร้อยละ 16.89 ซึ่งสูสีกับพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนนิยมในเขตเมืองหลวงที่ ร้อยละ 16.0 แต่ความแตกต่างคือ พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในกรุงเทพ ส่วนของ พปชร. นั้นคะแนนนิยมลดลง (อาจเกิดจากปัญหาการแย่งตำแหน่งกันใน พปชร.) 


สำหรับจุดอ่อนของ พปชร. นั้นไม่ต่างอะไรกับจุดอ่อนของพลเอกประยุทธ์ คือไม่สามารถชนะใจคนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 18 – 25 (ร้อยละ 5.35) ช่วงอายุ 26 – 35 (ร้อยละ 8.65) และ ช่วงอายุ 36 – 45 (ร้อยละ 8.66) รวมถึงไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชน (ร้อยละ 7.08) และ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 4.05) 


ในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 20.70 นั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมายนักจากครั้งก่อนที่ได้ร้อยละ 19.95 ซึ่งอาจหมายถึงคะแนนนิยมพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 19 – 21 ซึ่งปัญหาหลักของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ความไม่มีเอกภาพในพรรค ฯ และการขาดหัวหน้าพรรค ฯ ที่มีความโดดเด่น ซึ่งคงไม่ใช่ทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แต่อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยก็ยังคงครองใจคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 27.79) ที่ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง พปชร. (ร้อยละ 14.25) พอสมควร นอกจากนั้นแล้วพรรคเพื่อไทยโดดเด่นในกลุ่มเกษตรกร/ประมง (ร้อยละ 26.30) กลุ่มรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน (ร้อยละ 26.85) และผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 25.72) ส่วนจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย แน่นอน อยู่ที่ภาคใต้ (ร้อยละ 7.78) กลุ่มผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 10.94)  กลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 11.55) กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 12.16)


สุดท้ายขอวิเคราะห์พรรคที่เก่าแก่ที่สุดอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 7.75 พบว่าจุดแข็งยังคงเป็นภาคใต้ (ร้อยละ 20.66) โดยมี พปชร. จี้ติดและห่างกันเพียง 2.1 % แต่ที่สำคัญคือ คะแนนนิยมในภาคใต้ของ ปชป. ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือนธันวาคม 2562 ที่เคยได้ ร้อยละ 32.34 ซึ่งอาจตรงกับที่รองหัวหน้า ปชป. คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  และ สส. ตรัง คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เตือนไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ปชป. ไม่สามารถทำการเมืองได้อย่างที่คนใต้หวังไว้ และหากพรรคไม่ปรับตัว ก็จะตายกันหมด...คงต้องปฏิรูปพรรคแบบจริงจังได้แล้ว 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ