คอลัมนิสต์

หากปลดล็อก 100% เลิกพรก.ฉุกเฉิน แล้วเอาอะไรไว้รับมือ โควิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะประเด็นร้อน เปิด พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิดต่อหลังปลดล็อก 100%

กฎหมายฉบับหลักที่จะนำมาใช้ในภารกิจ "คุมโควิด" หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ ก็คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่คำถามก็คือ กฎหมายฉบับนี้ "เอาอยู่" หรือไม่

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ยกร่างขึ้นมาทดแทนฉบับเดิม และเพิ่งมีการประกาศใช้ในยุครัฐบาล คสช. ปี 58 ที่ผ่านมานี้เอง

 

ไล่ดูเนื้อหา 60 มาตราของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นได้ชัดว่ามาตรการหลักๆ ที่ใช้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ล้วนมาจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เกือบทั้งสิ้น เช่น กักกันตัวกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรค (มาตรา 34) ห้ามเข้าหรือออกจากสถานที่หรือยานพาหนะ (มาตรา 34-35) สั่งปิดตลาด สถานที่ชุมชน โรงมหรสพ โรงเรียน (มาตรา 35) มาตรการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (มาตรา 39-40)

 

นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการโรคติดต่อตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และกทม. (มาตรา 11, 20 และ 26) ซึ่งถูกวางโครงสร้างการทำงานตามหลักการกระจายอำนาจ คือให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองได้ เพื่อความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องบังคับเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ (ผลด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจบางส่วนสามารถขับเคลื่อนไปได้ ไม่ต้องหยุดนิ่งหรือถูกแช่แข็งเหมือนกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบครอบคลุมทั้งประเทศ)

 

อำนาจที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯไม่มีในสถานการณ์ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ตรวจสอบมีเพียง "เคอร์ฟิว" กับ "ปิดน่านฟ้า" เท่านั้น ซึ่งในส่วนของการปิดน่านฟ้าเป็นอำนาจของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า การประกาศปิดน่านฟ้าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของสำนักงานการบินพลเรือนฯ หรือใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกันแน่

 

          และสุดท้ายคือ "เคอร์ฟิว" ที่เป็นเหตุผลหลักในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันเคอร์ฟิวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และหากจะกลับมาประกาศเคอร์ฟิวอีก ก็ยังสามารถใช้กฎหมายที่มีดีกรีการลิดรอนสิทธิ์อ่อนกว่ามาทดแทนได้ เช่น พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (มาตรา 18) ซึ่งก็ให้อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดเหมือนกัน รวมไปถึงการตั้งด่านปิดการคมนาคมด้วย

          ส่วนมาตรการห้ามชุมนุมมั่วสุม น่าจะปรับใช้จาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ได้เหมือนกัน เพราะเป็นการทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

 

ทีมข่าวการเมือง เนชั่นทีวี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ